top of page
รูปภาพนักเขียนฐิติกร พูลภัทรชีวิน

พิจารณาความคุ้มค่าในการลงทุนด้วย Cost-Benefit Analysis

อัปเดตเมื่อ 8 ม.ค. 2566

ก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง สิ่งที่ธุรกิจต้องทำก็คือ การวิเคราะห์ความคุ้มค่าของการลงทุน หนึ่งในเครื่องมือที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในการวิเคราะห์ความคุ้มค่าก็คือ การทำ Cost-Benefit Analysis


Cost-Benefit Analysis เป็นกระบวนการที่ธุรกิจใช้วิเคราะห์และตัดสินใจอย่างเป็นระบบว่าเรื่องใดที่ควรทำและเรื่องใดที่ไม่ควรทำ ด้วยการรวบรวมผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับทั้งหมดจากสถานการณ์หรือการกระทำนั้นมาหักลบกับต้นทุนทั้งหมดที่จะต้องใช้เพื่อทำสิ่งนั้น

คำว่าผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับนี้ อาจอยู่ในรูปแบบของมูลค่าทางการเงิน เช่น รายได้ที่เพิ่มขึ้นหรือการประหยัดงบประมาณ หรือจะไม่อยู่ในรูปแบบตัวเงินก็ได้ เช่น ความพึงพอใจของลูกค้า ความพึงพอใจของพนักงาน เป็นต้น


ตัวอย่างของค่าใช้จ่ายที่เราควรนำมาใช้ในการวิเคราะห์

  1. ค่าใช้จ่ายทางตรง (Direct Costs) เช่น ค่าแรงพนักงานในกระบวนการผลิต การบริหารคลังสินค้า ค่าวัตถุดิบ รวมถึงต้นทุนการผลิตสินค้า

  2. ค่าใช้จ่ายทางอ้อม (Indirect Costs) เช่น ค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าโสหุ้ย ค่าเช่า

  3. ต้นทุนที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Costs) ของการตัดสินใจนั้น เช่น ผลกระทบที่จะเกิดกับลูกค้า พนักงาน หรือระยะเวลาที่ใช้ในการส่งมอบสินค้า

  4. ต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity Costs) ซึ่งเกิดจากการที่เราตัดสินใจเลือกทางเลือกนั้นจนทำให้ไม่สามารถเลือกทางเลือกอื่นได้

  5. ต้นทุนด้านความเสี่ยงอื่นๆ เช่น ความเสี่ยงทางกฎหมาย ความเสี่ยงด้านการแข่งขันทางธุรกิจ ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น


จุดที่มักทำให้เกิดปัญหาในการวิเคราะห์ต้นทุนและค่าใช้จ่าย ก็คือ การมองต้นทุนไม่ครบถ้วนจนทำให้คำนวณความคุ้มค่าผิดพลาดไป ส่วนใหญ่จะเกิดจากการลืมคำนวณค่าใช้จ่ายทางอ้อม ต้นทุนที่จับต้องไม่ได้ ต้นทุนค่าเสียโอกาส และความเสี่ยงอื่นๆ เข้าไปด้วย หรืออาจคิดเฉพาะต้นทุนที่เกี่ยวกับฝ่ายของตัวเองโดยไม่ได้คิดไปถึงต้นทุนที่ฝ่ายอื่นต้องแบกรับ ซึ่งพบได้บ่อยเมื่อพนักงานที่เป็นผู้บริหารระดับต้น หรือผู้บริหารระดับกลาง เป็นคนทำการวิเคราะห์ความคุ้มค่าขึ้นมา และนั่นก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้หลายไอเดียดีๆ โดนตีตกไปเพราะผู้บริหารระดับสูงที่มองเห็นภาพรวมขององค์กรได้มากกว่า จะมองเห็นต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นได้ครบถ้วนกว่านั่นเอง


ลองมาดูตัวอย่างของผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับกันบ้าง

  1. ผลประโยชน์ด้านการเงิน เช่น รายได้หรือยอดขายที่เพิ่มขึ้น การประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นต้น

  2. ผลประโยชน์ที่จับต้องไม่ได้ เช่น ความปลอดภัยของพนักงานที่เพิ่มมากขึ้น ขวัญและกำลังใจของพนักงานเพิ่มขึ้น ระดับความพึงพอใจของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น

  3. ความได้เปรียบทางการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น ช่วยให้บริษัทมีส่วนแบ่งตลาดมากขึ้น


จุดที่มักทำให้เกิดปัญหาในการวิเคราะห์ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ก็คือ การนำเสนอแต่ผลประโยชน์ที่จับต้องไม่ได้ และยังไม่สามารถบอกในเชิงปริมาณให้เห็นชัดเจนได้ด้วย เช่น บอกว่าการทำโครงการนี้จะทำให้พนักงานมีความรู้สึกผูกพันกับองค์กรมากขึ้น แต่ไม่บอกว่า มากขึ้นเท่าไหร่ จากของเดิมที่มีอยู่เท่าไหร่ คิดเป็นมูลค่าประมาณเท่าไหร่ ทำให้ผู้บริหารระดับสูงตัดสินใจได้ยาก เมื่อผลประโยชน์ไม่ชัดในขณะที่เขาเห็นต้นทุนค่อนข้างชัดเจน ก็ไม่แปลกอะไรที่ไอเดียที่นำเสนอผลประโยชน์มาแบบนี้ จะถูกตีตกไป


ตัวอย่างการแปลงผลประโยชน์ที่จับต้องไม่ได้ให้กลายเป็นตัวเงิน


มีโรงงานหนึ่งที่ผมเข้าไปสอน แล้วคนเรียนก็มาบ่นให้ฟังว่า เสนอเจ้านายซื้อชุดกันความร้อนไปหลายปี แต่ไม่เคยได้รับอนุมัติเลย พอผมถามว่าเพราะอะไรเจ้านายถึงไม่อนุมัติก็ได้คำตอบกลับมาคำเดียวว่า เจ้านายเขี้ยว ขี้งก จะเอาแต่กำไร ผมเลยถามกลับไปใหม่ว่า แล้วทำเรื่องเสนอของบประมาณไปอย่างไร เขาก็เล่ากลับมาว่า ก็เสนอขอซื้อชุดกันความร้อนไป 10 ชุด ราคาชุดละ 12,000 บาท รวมงบประมาณก็แค่ 120,000 บาทเอง แค่นี้เจ้านายยังไม่ให้เลย ทั้งที่บริษัทมีรายได้เป็นพันล้านต่อปี


ผมเลยถามต่อว่า แล้วตอนทำโครงการเสนอเนี่ย ได้บอกมั้ยว่า บริษัทจะได้ประโยชน์อะไร เขาก็ตอบว่า ก็บอกนะ พนักงานก็จะได้ความปลอดภัยมากขึ้นไง แค่นี้เจ้านายก็น่าจะเข้าใจแล้วนะ

พอเห็นปัญหาหรือยังครับ ปัญหาเคสนี้คือ กำลังจะขอเงิน 120,000 บาท มาแลกกับคำว่า ปลอดภัยมากขึ้น โดยไม่บอกว่า มากขึ้นยังไง มากขึ้นเท่าไหร่ จำเป็นต้องมากขึ้นมั้ย ก็ไม่แปลกใช่มั้ยครับที่เจ้านายจะตัดสินใจไม่อนุมัติ


ลองนึกถึงถ้าเรามีลูกอายุสิบขวบ มาขอเงินไปซื้อหน้ากากอนามัยชิ้นละ 500 บาท พอถามว่าทำไมต้องซื้อแบบราคานี้ แบบอันละไม่กี่บาทก็มี แบบไม่ถึงร้อยก็น่าจะได้ แล้วได้คำตอบกลับมาแค่ ก็มันปลอดภัยกว่า แต่อธิบายไม่ได้ว่าปลอดภัยกว่ายังไง ปลอดภัยกว่าขนาดไหน เราจะยอมให้เงินลูกไปซื้อมั้ยครับ


กลับมาเล่าเคสชุดกันความร้อนต่อ เคสนี้ผมใช้คำถามเพื่อเรียบเรียงความคิดเขาใหม่แบบนี้ครับ


  1. ผมถามว่า ที่บอกว่าปลอดภัยขึ้นเนี่ย หมายความว่าอย่างไร ปลอดภัยจากอะไรยังไง เขาคงเห็นว่าผมเป็นคนนอกโรงงาน ก็เลยยอมอธิบายว่า ก็พื้นที่ที่พวกเขาต้องเข้าไปปฏิบัติงานมันเป็นพื้นที่ที่มีความร้อนสูงมาก ถ้าส่วนใดของตัวพวกเขาไปสัมผัสโดนอะไรในนั้นเข้าก็จะร้อนจนพองหรือเกิดอันตรายร้ายแรงได้ ดังนั้นจึงอยากได้ชุดกันความร้อน เมื่อไปสัมผัสอะไรเข้า จะได้ไม่เป็นอันตราย ฟังแบบนี้ก็พอเข้าใจละว่าที่ว่าปลอดภัยขึ้นแปลว่าอะไร

  2. ผมจึงถามต่อว่า แล้วอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากการเข้าไปปฏิบัติหน้าที่แล้วไปสัมผัสโดนอะไรต่างๆ เนี่ย มันเกิดบ่อยขนาดไหน มีเก็บบันทึกสถิติไว้มั้ย เขาก็ตอบทันทีเลยว่ามีครับ เฉลี่ยแล้วจะเกิดเดือนละครั้ง ปีนึงก็สิบสองสิบสามครั้งนี่แหละครับ

  3. ผมก็ถามต่อว่า แล้วแต่ละครั้งเนี่ย ต้องไปโรงพยาบาลมั้ย เค้าก็ตอบว่าต้องไปทำแผลที่โรงพยาบาลครับ ส่วนใหญ่ก็ต้องไปทำแผลต่อเนื่องสองสามวันนี่แหละ

  4. ผมก็เลยถามต่อไปอีกว่า แล้วต่อหนึ่งเคสที่ไปโรงพยาบาลเนี่ย เสียค่าใช้จ่ายประมาณกี่บาท เขาก็ตอบกลับมาว่า เฉลี่ยก็ประมาณ สองสามพันบาท

  5. ถึงตรงนี้ผมเลยสรุปทบทวนความเข้าใจกับเขาอีกทีว่า แสดงว่าจากสถิติที่เก็บรวบรวมมา อุบัติเหตุที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีชุดกันความร้อนจะเกิดขึ้นประมาณเดือนละครั้ง ปีนึงก็ 12 ครั้ง แต่ละครั้งจะต้องเสียค่ารักษาพยาบาลประมาณสองพันบาท เอาตัวเลขขั้นต่ำมาใช้ในการคำนวณนะ แสดงว่า ในหนึ่งปีบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายจากการรักษาพยาบาลเฉพาะเคสนี้อยู่ที่ 24,000 บาทโดยประมาณ ถูกต้องมั้ย เค้าจึงยืนยันว่าถูกต้องครับ

  6. ผมจึงถามต่อว่า แล้วข้อมูลที่เราคุยกันตรงนี้ คุณได้นำเสนอผู้บริหารไปตอนขออนุมัติโครงการด้วยมั้ย คำตอบคือ ไม่ได้เสนอครับ คิดว่าเจ้านายก็คงรู้อยู่แล้ว

  7. ผมจึงเริ่มถามต่อว่า วิธีการที่คุณนำเสนอก็คือ ให้พนักงานใส่ชุดกันความร้อนเข้าพื้นที่ จะได้ไม่ต้องเกิดอุบัติเหตุเลย ถูกต้องมั้ยครับ เขาก็ตอบอีกว่า ถูกต้องครับ

  8. ผมจึงถามต่อว่าชุดกันความร้อนราคาเท่าไหร่ เขาก็ตอบกลับมาว่า 12,000 บาทต่อชุด

  9. ผมก็ถามต่อว่า คุณเสนอของบประมาณไป 120,000 บาทเพราะต้องการซื้อสิบชุด ทำไมต้องสิบชุด เขาก็ตอบว่า ทีมของเขาที่ต้องทำงานในพื้นที่นี้มีสิบคน เลยต้องขอซื้อสิบชุด ฟังดูก็เหมือนสมเหตุสมผลดีนะครับ แต่ไม่ใช่เลยครับ มันยังมีอะไรแปลกๆ อยู่ในวิธีคิดนี้

  10. ผมก็ถามต่อแบบคนไม่รู้ว่า สิบคนนี้ เข้าไปทำงานปฏิบัติหน้าที่พร้อมกันเลยหรือเปล่าครับ คือ จริงๆ ผมคิดว่าเขาน่าจะมีแบ่งการทำงานเป็นกะ ไม่น่าจะทำงานพร้อมกันสิบคน แต่คำตอบที่ได้มาเซอร์ไพร์สกว่านั้น ครับ เขาตอบว่า พื้นที่ตรงนั้นแคบนิดเดียวเองครับอาจารย์ เข้าได้แค่ครั้งละคนเท่านั้น อ้าว แปลกๆ แล้วใช่มั้ยครับ เข้าได้ครั้งละคน ทำงานครั้งละคนแล้วจะซื้อทำไมสิบชุด

  11. ผมเลยถามต่อว่า แล้วทำไมถึงเสนอซื้อสิบชุดเลยครับ ในเมื่อเวลาใช้งานจริงใช้เพียงแค่ชุดเดียว เขาก็อธิบายต่อว่า เรื่องนี้เขาคิดมาแล้ว ตอนแรกก็อยากซื้อแค่ชุดเดียว แต่เนื่องจากชุดพวกนี้เนี่ย ต้องใส่ให้พอดีตัวคนทำงาน จะใส่แบบคับไปหรือหลวมไปก็ทำงานได้ไม่สะดวก และอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เลยต้องซื้อให้พอดีตัวคนทั้งสิบคน กลายเป็นสิบชุดครับ

  12. ผมก็ถามต่อแบบคนไม่รู้อีกว่า ชุดพวกนี้เป็นชุดสั่งตัดเหรอครับ คำตอบคือ เปล่าครับ ก็เป็นชุดสำเร็จรูปนี่แหละ

  13. ผมเลยถามต่อว่า ถ้าเป็นชุดสำเร็จรูป แสดงว่าเค้าต้องมีไซส์ที่ Fix ไว้อยู่แล้ว เขามีกี่ไซส์ครับ คำตอบคือ มีแค่ 4 ไซส์ครับ S M L XL

  14. พอเขาหลุดปากตอบผมออกมา เขาก็หยุดชะงักไปเหมือนคิดอะไรได้ แล้วสักพักนึงก็พูดขึ้นมาใหม่ว่า อืม จริงๆ ผมไม่จำเป็นต้องเสนอซื้อสิบชุด จริงๆ แค่เสนอซื้อไซส์ละชุดก็พอ เป็นสี่ชุดแค่นั้นเอง งบประมาณก็จะเหลือแค่ 12,000 x 4 = 48,000 บาท น่าจะของบง่ายขึ้นแล้ว

  15. ผมก็เลยยิ้มไปแล้วตอบว่าใช่เลยครับ แต่ยังไม่ใช่แค่นั้นนะ จริงอยู่ของบน้อยลงก็อาจทำให้ผู้บริหารตัดสินใจง่ายขึ้น แต่ผู้บริหารระดับสูงแต่ละองค์กรที่ผมเคยทำงานด้วยเนี่ย จะของบร้อยล้านหรือของบแค่หมื่นเดียวก็เขี้ยวพอกันนะครับ ถ้าเขาดูแล้วไม่คุ้มค่า แค่หมื่นเดียวเขาก็ไม่อนุมัติ ดังนั้นเราต้องชี้ให้เขาเห็นถึงความคุ้มค่าของเงิน 48,000 บาทที่เรากำลังจะขอเขามาด้วย

  16. เมื่อสักครู่เราคำนวณกันแล้วว่า จากเดิมที่ไม่มีชุดกันความร้อน บริษัทสูญเสียค่ารักษาพยาบาลให้พนักงานจากอุบัติเหตุในเคสนี้ทุกปี ปีละ 12,000 บาทเป็นอย่างน้อย ถ้าเรามีชุดกันความร้อน อุบัติเหตุนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย ดังนั้นบริษัทก็จะประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้ปีละ 12,000 บาท จากการลงทุนซื้อชุดกันความร้อน 48,000 บาท หรือก็คือ 4 ปีคืนทุน ตั้งแต่ปีที่ห้าเป็นต้นไป คือกำไร

  17. ผมถามทิ้งท้ายอีกนิดนึงว่า ชุดพวกนี้เนี่ย อายุการใช้งานมันนานขนาดไหน จะพังก่อนสี่ปีมั้ย คำตอบที่ได้คือ ชุดพวกนี้ใช้ได้เป็นสิบปีครับ

  18. ผมเลยบอกว่างั้นผมตีแบบต่ำๆ ไว้ก่อน เอาแบบว่าใช้จริงชุดนี้อาจพังใน 7 ปี ดังนั้น ค่ารักษาพยาบาลที่บริษัทจะประหยัดได้จะอยู่ที่ 84,000 บาท ลงทุนไป 48,000 บาท แสดงว่าบริษัทจะกำไร 36,000 บาท ลองเอาตัวเลขทั้งหมดนี้ไปเขียนบรรยายลงในโครงการแล้วเสนอของบประมาณใหม่นะ

ไม่กี่วันหลังจากนั้นผมก็ได้ยินข่าวดีว่า เจ้านายอนุมัติซื้อชุดกันความร้อนเรียบร้อยครับ


ขอสรุปส่งท้ายสั้นๆ ว่า จริงอยู่ที่ในการประเมินความคุ้มค่าด้วย Cost-Benefit Analysis อาจมีทั้งผลประโยชน์และต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้อยู่ในรูปของตัวเงินอยู่ด้วย แต่หากเราลองหาวิธีการเทียบเคียงเพื่อให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ผลประโยชน์หรือต้นทุนนั้นสามารถประมาณเป็นมูลค่าทางการเงินได้เท่าไหร่ ก็จะยิ่งช่วยให้การตัดสินใจทำได้ง่ายขึ้น อย่างเช่นตัวอย่างที่ยกมา แทนที่จะบอกว่าปลอดภัยมากขึ้นเท่าไหร่ ก็แปลงเป็นค่ารักษาพยาบาลที่เกิดจากความไม่ปลอดภัยแทน ก็จะช่วยให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องเข้าใจตรงกันได้ง่ายขึ้นแล้วครับ

ดู 5,331 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments

Rated 0 out of 5 stars.
No ratings yet

Add a rating
bottom of page