top of page
รูปภาพนักเขียนฐิติกร พูลภัทรชีวิน

เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy)

อะไรคือเศรษฐกิจสร้างสรรค์


คำว่า “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในหนังสือของ John Howskins ซึ่งให้คำนิยามของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไว้ว่า “การสร้างมูลค่าที่เกิดจากความคิดของมนุษย์” หลังจากนั้นคำว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์จึงถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางในนานาประเทศ ซึ่งจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้มีการกำหนดนิยามที่ชัดเจนของคำๆ นี้ การอธิบายถึงความหมายของคำว่า “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” จึงมักจะหยิบยกเอาความหมายที่ประเทศและองค์การต่างๆ ได้นิยามไว้ อาทิ


ประเทศสหราชอาณาจักร ได้ให้คำนิยามไว้ว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็น “เศรษฐกิจที่ประกอบด้วยอุตสาหกรรมที่มีรากฐานมาจากความคิดสร้างสรรค์ของบุคคล ทักษะความชำนาญ และความสามารถพิเศษ ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการสร้างความมั่งคั่ง และสร้างงานให้เกิดขึ้นได้ โดยที่สามารถสั่งสมและส่งผ่านจากรุ่นเก่าสู่รุ่นใหม่ด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา”


องค์การความร่วมมือเพื่อการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ได้อธิบายว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์ “เป็นแนวความคิดในการพัฒนาและสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยใช้สินทรัพย์ที่เกิดจากการใช้ความคิดสร้างสรรค์”


องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ได้ให้ความหมายของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไว้ว่า “อุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมและศิลปะทั้งหมด ทั้งในรูปสินค้าและบริการที่ต้องใช้ความพยายามในการสร้างสรรค์งาน ไม่ว่าจะเป็นการทำขึ้นมาโดยทันทีในขณะนั้น หรือผ่านกระบวนการผลิต และเน้นการปกป้องผลงานผ่านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา”


องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้นำเสนอนิยามของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไว้ว่า “อุตสาหกรรมที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ ความชำนาญ และความสามารถที่มีศักยภาพในการสร้างงานและความมั่งคั่งโดยการผลิตและใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา”


สำหรับประเทศไทยนั้น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ให้คำจำกัดความของ “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ไว้ว่า


“เศรษฐกิจสร้างสรรค์ คือ แนวคิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ การศึกษา การสร้างสรรค์งาน และการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา ที่เชื่อมโยงกับพื้นฐานทางวัฒนธรรม การสั่งสมความรู้ของสังคม และเทคโนโลยี/นวัตกรรมสมัยใหม่”

ทำไมต้องเศรษฐกิจสร้างสรรค์


ในการประชุมประจำปี 2551 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เรื่อง “วิสัยทัศน์ประเทศไทยสู่ปี 2570” ได้กำหนดวิสัยทัศน์ประเทศไทยในปี 2570 ไว้ว่า “คนไทยภาคภูมิใจในความเป็นไทย มีมิตรไมตรีบนวิถีชีวิตแห่งความพอเพียง ยึดมั่นในวัฒนธรรมประชาธิปไตย และหลักธรรมาภิบาล การบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานที่ทั่วถึง มีคุณภาพ สังคมมีความปลอดภัยและมั่นคง อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ดี เกื้อกูลและเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน ระบบการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน อยู่บนพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่พึ่งตนเองและแข่งขันในเวทีโลก สามารถอยู่ในประชาคมภูมิภาคและโลกได้อย่างมีศักดิ์ศรี”


ต่อมาในการประชุมประจำปี 2552 ของ สศช. เรื่อง “จากวิสัยทัศน์ 2570..สู่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11” ได้พูดถึงบริบทของสังคมไทยที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคตอันใกล้จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของสังคมโลก พร้อมทั้งได้นำเสนอทางออกสำหรับการพัฒนาประเทศเอาไว้อย่างน่าสนใจ และหนึ่งในนั้น ก็คือ การเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยจากเดิมให้กลายเป็น “เศรษฐกิจสร้างสรรค์”


ในรายงานสรุปผลการประจำปี 2552 ได้ระบุถึงสาเหตุที่ประเทศไทยควรจะก้าวเข้าสู่การเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไว้ โดยสรุปดังนี้


แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก ในช่วง 20 ปีข้างหน้า จะเกิดการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย ทำให้มีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนศูนย์กลางอำนาจมาอยู่ที่แถบเอเชียมากขึ้น นอกจากนี้ยังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการเงินโลกซึ่งจะมีความผันผวนและความเสี่ยงมากขึ้น ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของความเชื่อมโยงทางการเงินระหว่างประเทศ จะเป็นตัวที่ทำให้ผลกระทบต่างๆ ทางด้านการเงินจากแต่ละประเทศจะส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ไปยังประเทศอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็วและรุนแรงมากขึ้น

ปัญหาวิกฤติการณ์เศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกอย่างมากมาย ปัญหาในระยะสั้นที่สำคัญ คือ ภาวะเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ตกต่ำอย่างรุนแรง จนภาครัฐต้องจัดสรรงบประมาณเข้าแทรกแซงเพื่อพยุงระบบเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก ส่งผลต่อปริมาณหนี้สาธารณะของแต่ละประเทศที่เพิ่มมากขึ้นอย่างเป็นเงาตามตัว จนอาจกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไปในระยะยาว


ผลกระทบที่เกิดกับประเทศไทยจากการหดตัวของเศรษฐกิจโลกที่ผ่านมา ได้สะท้อนโครงสร้างภาคเศรษฐกิจไทยว่ามีความเปราะบาง เนื่องจากต้องพึ่งพิงเศรษฐกิจภายนอกประเทศในสัดส่วนที่สูง จึงน่าจะเป็นเวลาที่ประเทศไทยจะได้หันกลับมาปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยการมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มคุณค่า/สร้างมูลค่าให้กับสินค้ากลุ่มที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขันอยู่แล้ว รวมถึงการมุ่งเน้นส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันในกลุ่มสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ/มีความสามารถหลัก (Core Competency) นำมาสร้างให้เกิดความแตกต่างเพื่อหลีกหนีจากการแข่งขันแบบเดิมๆ “เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy)” จึงกลายเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจใหม่ที่เน้นการพัฒนาด้วยการเจริญเติบโตแบบสมดุลและยั่งยืนบนพื้นฐานของความได้เปรียบที่แท้จริงของประเทศได้ในที่สุด


การปรับเปลี่ยนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศ จากยุคที่ขับเคลื่อนด้วยปัจจัยการผลิตและทรัพยากรธรรมชาติ ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยความรู้และความคิดสร้างสรรค์ เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาในหลายประการ ในด้านรายได้ ประเทศที่ปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์แล้วมักเป็นประเทศที่มีรายได้สูง เช่น ญี่ปุ่น อิตาลี ฝรั่งเศส กลุ่มประเทศแถบสแกนดิเนเวีย เป็นต้น ในด้านการกระจายความมั่งคั่ง จะเห็นโอกาสของธุรกิจเล็กๆ ในชุมชน หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระในยุคโลกาภิวัฒน์ที่พัฒนาสินค้าและบริการของตนเองด้วยความคิดสร้างสรรค์และเชื่อมโยงกับตลาดโลกได้โดยตรงมีมากขึ้น แม้ว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์อาจจะดูเหมือนไม่บรรลุเป้าหมายของเศรษฐกิจในด้านการมีเสถียรภาพ เนื่องจากราคาสินค้าสร้างสรรค์ในหลายประเภทมีการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วตามกระแสแฟชั่น แต่ในด้านความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจก็ยังน้อยกว่าการเจริญเติบโตที่พึ่งแต่สาขาเศรษฐกิจซึ่งขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศและความเสี่ยงภัยจากธรรมชาติเท่านั้น


และนี่คือเหตุผลว่า ทำไมประเทศไทยจึงควรมุ่งสู่การเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์


ประเทศไทย...กับความพร้อมในการก้าวสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์


เช่นเดียวกับคำนิยามของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มีความหลากหลายเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทการนำกรอบแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไปใช้งานในแต่ละประเทศและแต่ละองค์การ ขอบเขตของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ก็มีความหลากหลายเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทการนำกรอบแนวคิดไปใช้งานเช่นเดียวกัน ในส่วนของประเทศไทยนั้น สศช. ได้ยึดเอารูปแบบการจัดประเภทของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ขององค์การความร่วมมือเพื่อการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) มาเป็นกรอบหลักและพัฒนาเพิ่มเติมโดยใช้รูปแบบขององค์การยูเนสโก (UNESCO) มาประกอบ ทำให้สามารถกำหนดขอบเขตของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในประเทศไทยได้เป็น 4 กลุ่มหลัก 15 สาขาย่อย ดังนี้



ต่อคำถามที่ว่า ประเทศไทยมีความพร้อมขนาดไหนในการจะก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ หากพิจารณาจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย น่าจะกล่าวได้ว่าประเทศไทยมีความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เนื่องจากประเทศไทยมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีทักษะทางศิลปะ ซึ่งสืบทอดต่อกันมาผ่านวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ ด้วยเหตุนี้แม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่ได้มีการขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์กันในระดับยุทธศาสตร์ของประเทศ แต่กลับพบว่ามูลค่าของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในไทย คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 10-11 ของจีดีพี (ข้อมูลระหว่างปี 2545-2549) โดยกลุ่มงานสร้างสรรค์และออกแบบ กลุ่มมรดกทางวัฒนธรรม และกลุ่มสื่อ เป็นกลุ่มที่มีมูลค่าสูงสุด



ผศ.เสาวรภย์ กุสุมา ณ อยุธยา ได้ระบุจุดแข็งของประเทศไทยที่สนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไว้หลายประการ ครอบคลุมทั้งมิติด้านประวัติศาสตร์และมรดกทางวัฒนธรรมที่สามารถสืบทอดเป็นมรดกโลก ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีจนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของคนไทย ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีความหลากหลาย ความประณีตละเอียดในการสร้างสรรค์ผลงานที่ใช้ฝีมือจนเป็นที่ยอมรับและมีชื่อเสียงในระดับโลก การมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามหลากหลาย ตลอดจนการมีต้นทุนและค่าครองชีพที่ต่ำเมื่อเทียบกับหลายประเทศในระดับเดียวกันซึ่งทำให้สามารถใช้เวลา ทรัพยากรธรรมชาติ และทรัพยากรบุคคลเพื่อการสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่


นอกจากนี้หากพิจารณาถึงความพร้อมด้านการสนับสนุนจากรัฐบาล ก็จะพบว่ารัฐบาลปัจจุบันได้ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์เช่นกัน โดยได้ระบุอย่างชัดเจนเอาไว้ในคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภาในวันที่ 29 ธันวาคม 2551 ในหัวข้อ 4.2.3.1 ว่า “ขยายฐานบริการในโครงสร้างการผลิตของประเทศ และเชื่อมโยงธุรกิจภาคบริการ อุตสาหกรรม และเกษตรเข้าด้วยกันให้เป็นกลุ่มสินค้า เช่น ธุรกิจสุขภาพ อาหารและการท่องเที่ยว รวมทั้งสินค้าบริการที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์บนพื้นฐานวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยที่เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีสมัยใหม่” ซึ่งนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้สรุปนัยสำคัญของนโยบายนี้ ไว้ว่า “นัยสำคัญของนโยบาย คือ สร้างระบบเศรษฐกิจที่ผสมผสานสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาไทย เข้ากับองค์ความรู้ที่ครอบคลุมทั้งเทคโนโลยี นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณลักษณะโดดเด่นเฉพาะตัวขึ้น เป็นการสร้างมูลค่าและคุณค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน” นอกจากนี้ในแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง (แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2) ก็ได้ระบุวัตถุประสงค์ไว้ข้อหนึ่งว่า “เพื่อสร้างฐานรายได้ที่ทันสมัยของประเทศจากเศรษฐกิจความคิดสร้างสรรค์หรือเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์” โดยมีการระบุ “แผนงานพัฒนาศักยภาพของเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์” เอาไว้ด้วย


จากองค์ประกอบเหล่านี้จะทำให้เราเห็นว่า ประเทศไทยจัดได้ว่ามีความพร้อมและความเหมาะสมในการขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์


อย่างไรก็ดีประเทศไทยก็ยังขาดความพร้อมในบางด้านซึ่งส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์เช่นกัน อาทิ ประเทศไทยยังขาดระบบสารสนเทศที่จัดเก็บรวบรวมข้อมูลทางสถิติเพื่อใช้ในการบริหารจัดการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ การขาดการบูรณาการและความต่อเนื่องของนโยบายการพัฒนา ขาดกลไกการขับเคลื่อนและการประสานงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขาดการสนับสนุนทางการเงินของสถาบันทางการเงิน ปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ขาดการบริหารจัดการความรู้สำหรับภูมิปัญญาของไทย โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ยังต้องการการพัฒนาเพิ่มเติม และขาดระบบมาตรฐานสำหรับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

แนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ดร.ปรเมธี วิมลศิริ ได้นำเสนอแนวทางในการวางนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในช่วงต่อไป โดยมุ่งเน้นให้ภาครัฐทำหน้าที่เป็น “ผู้สนับสนุน” โดยการปรับปรุงกลไกและการสร้างสภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจให้เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจสร้างสรรค์ และอีกบทบาทหนึ่งได้แก่การเป็น “ผู้ส่งเสริม” เพื่อให้เกิดกรณีตัวอย่างซึ่งจะก่อให้เกิดการบริโภคเลียนแบบ (Demonstration effect) โดยอาจเกี่ยวข้องกับผู้ผลิตเฉพาะราย แต่มีเป้าหมายถึงประโยชน์ส่วนรวม สำหรับแนวทางในการดำเนินการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ ดังนี้


องค์ประกอบที่ 1 Creative Generation ได้แก่ การพัฒนาคนให้มีความคิดสร้างสรรค์ และส่งเสริมคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ให้ประกอบอาชีพได้ ซึ่งในการนี้จะต้องทำควบคู่กันไประหว่างการปรับระบบการเรียนรู้ทั้งในและนอกโรงเรียนเพื่อกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่สามารถคิดอย่างสร้างสรรค์ได้ พร้อมทั้งสร้างกลไกและการสนับสนุนที่ทำให้ความคิดสร้างสรรค์นั้นสามารถต่อยอดไปเป็นธุรกิจได้


องค์ประกอบที่ 2 Creative Industry ได้แก่ การส่งเสริมธุรกิจรายสาขา เน้นเฉพาะสาขาที่มีโอกาสจะพัฒนาเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้ โดยจะต้องมีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพัฒนาเป็นโครงการเฉพาะสำหรับกลุ่มธุรกิจ


องค์ประกอบที่ 3 Creative Space ได้แก่ การพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อเอื้ออำนวยต่อการเกิดความคิดสร้างสรรค์ โดยสร้างชุมชนของธุรกิจสร้างสรรค์ หรือพัฒนาเมืองที่มีศักยภาพให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านความคิดสร้างสรรค์ประจำภูมิภาค


องค์ประกอบที่ 4 Creative Cooperation ได้แก่ การผลักดันให้มีการวางแผนอย่างบูรณาการและการดำเนินการอย่างมีเอกภาพระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยกันเอง สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะเชิญชวนให้บุคลากรในวงการสร้างสรรค์ให้เข้ามามีส่วนร่วมและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ


โดยส่วนตัวแล้วผมเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าวนี้เป็นอย่างยิ่ง องค์ประกอบทั้ง 4 ประการเป็นองค์ประกอบที่ครบถ้วนและควรที่จะดำเนินการเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ดี เพื่อให้โมเดลที่นำเสนอข้างต้นสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น ควรจะมีการเพิ่มองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งเข้าไปด้วย ซึ่งองค์ประกอบดังกล่าวถือเป็นฐานรากของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ นั่นคือ


"การจัดการความรู้เพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Knowledge Management)"


ซึ่งหมายรวมถึงองค์ความรู้ที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยทุกประเภท อาทิ วัฒนธรรม ประเพณี ศิลปะ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ ฯลฯ ซึ่งเอกลักษณ์เหล่านี้จะเป็นเสมือนทรัพยากรหรือปัจจัยนำเข้าของกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์และบริการในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และสามารถสร้างความแตกต่างอย่างมีคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์และบริการได้ จากแนวคิดดังกล่าว ผมจึงขอนำเสนอโมเดลเพื่ออธิบายองค์ประกอบของการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ใหม่ดังนี้



กลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์..สู่สังคมไทยในระดับฐานราก


ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีการจัดทำโครงการเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ขึ้นมาหลากหลายโครงการแล้วก็ตาม แต่ส่วนใหญ่แล้วยังเป็นโครงการที่มุ่งเน้นให้เห็นผลในภาพรวม ซึ่งผู้ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการโดยตรงส่วนใหญ่จะเป็นประชาชนที่อยู่ในสังคมเมืองขนาดใหญ่ ประชาชนในระดับฐานรากยังไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการสนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์เท่าที่ควร สาเหตุหลักประการหนึ่งอาจมาจากการขาดกลไกในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่เหมาะสม


หลังจากที่ผมได้พิจารณาแนวทางในการพัฒนาองค์ประกอบต่างๆ ที่จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์แล้ว ผมมีความคิดเห็นว่า การจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์กับสังคมไทยในระดับฐานรากได้นั้น จำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนากลไกที่จะช่วยให้การขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง เกิดผลสำเร็จได้ โดยผมขอนำเสนอความคิดเห็นว่า กลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ฯ จำเป็นจะต้องใช้กลไกการประสานพลังแบบเบญจภาคี อันได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน


จุดเริ่มต้นของการผลักดันการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จะต้องเริ่มต้นจากกลไกภาครัฐ อันประกอบด้วย ฝ่ายการเมือง และข้าราชการประจำ โดยฝ่ายการเมืองจะต้องกำหนดนโยบายที่มีความชัดเจน จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศสู่การเป็น “ประเทศเศรษฐกิจสร้างสรรค์” พร้อมทั้งประกาศให้การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการนำนโยบายไปปฏิบัติ แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงของฝ่ายการเมืองก็ตาม นอกจากการฝ่ายการเมืองระดับประเทศแล้ว การเมืองท้องถิ่นเองก็นับได้ว่าเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยผลักดันการนำนโยบายไปปฏิบัติให้ประสบความสำเร็จได้มากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงควรที่จะสนับสนุนให้การเมืองท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาภูมิภาคและจังหวัดตามแนวทางของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้วยอีกทางหนึ่ง ในส่วนของข้าราชการประจำ จะต้องมีการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานระดับกระทรวง เพื่อแปลงยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศสู่การเป็นประเทศเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ของแต่ละกระทรวง พร้อมทั้งผลักดันยุทธศาสตร์ลงไปยังหน่วยงานระดับกรม และหน่วยงานในส่วนภูมิภาค ตลอดจนองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย


ภาคเอกชนเป็นอีกกลไกหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เจริญก้าวหน้า โดยบทบาทแรกที่ภาคเอกชนต้องเข้ามามีส่วนร่วม คือ การวางแผนพัฒนาบุคลากรด้านงานสร้างสรรค์ โดยภาคเอกชนจะต้องเป็นผู้ให้ข้อมูลคุณลักษณะของบุคลากรที่ต้องการ และจำนวนบุคลากรที่ต้องการในอนาคต เพื่อให้ภาควิชาการสามารถนำไปใช้ในการออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนได้ ซึ่งในการนี้ภาคเอกชนควรจะเข้ามามีส่วนร่วม โดยการประกันการจ้างงานให้กับบุคลากรที่ผ่านกระบวนการพัฒนาตามแนวทางที่กำหนดร่วมกันระหว่างภาควิชาการกับภาคเอกชน ประการที่สอง ได้แก่ การสร้างเครือข่ายความรับผิดชอบทางสังคม (CSR Networking) ของภาคเอกชน แต่ละเครือข่ายจะประกอบด้วยกลุ่มของธุรกิจที่มีความมุ่งมั่นที่จะแสดงความรับผิดชอบทางสังคม ให้มาประสานพลังเพื่อสร้างโครงการเพื่อสังคมร่วมกัน โดยให้แต่ละเครือข่ายเลือกแผนงาน/โครงการที่สนใจจากแผนปฏิบัติการพัฒนาประเทศสู่การเป็นประเทศเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และนำเสนอรูปแบบที่เครือข่ายต้องการจะสนับสนุนโครงการ ตัวอย่างของการสนับสนุนโครงการ เช่น การให้เงินทุนสำหรับการจัดซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ให้กับชุมชน หรือค่าใช้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมของชุมชน หรือการสนับสนุนบุคลากรและค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมด้านต่างๆ ให้กับภาคประชาชน


บทบาทสำคัญของภาควิชาการซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการจากสถาบันการศึกษา และนักวิชาการอิสระ ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศสู่การเป็นประเทศเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้แก่ การผลิตบุคลากรด้านงานสร้างสรรค์ การปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอนให้นักเรียนนักศึกษาในทุกสาขาวิชาได้รับการพัฒนาด้านความคิดสร้างสรรค์ พร้อมทั้งการสร้างสรรค์กระบวนการในการพัฒนาประชาชนทั่วไปในชุมชนให้สามารถต่อยอดการพัฒนาเอกลักษณ์ของท้องถิ่นสู้ผลิตภัณฑ์และบริการสร้างสรรค์ได้


สำหรับภาคประชาสังคม ซึ่งมีความใกล้ชิดและคุ้นเคยกับชุมชนมากกว่าหน่วยงานภาครัฐ การให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีบทบาทในการเป็นผู้นำนโยบายบางด้านไปดำเนินการ จะช่วยให้โอกาสในการที่จะได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาชนมีมากยิ่งขึ้น


กลไกสุดท้ายได้แก่ ตัวแทนจากภาคประชาชน ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้แผนงาน/โครงการต่างๆ ประสบความสำเร็จ แนวทางที่จะช่วยขับเคลื่อนแผนงาน/โครงการต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แนวทางหนึ่งได้แก่ การสร้างทูตสร้างสรรค์ชุมชน (Community Creative Ambassador) เพื่อถ่ายทอดแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์และการประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันให้กับชุมชน การใช้กลไกตัวแทนจะช่วยให้ชุมชนเกิดการเรียนรู้และยอมรับการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นธรรมชาติ

ดู 14,845 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments

Rated 0 out of 5 stars.
No ratings yet

Add a rating
bottom of page