top of page
รูปภาพนักเขียนฐิติกร พูลภัทรชีวิน

ความหมายของความคิดสร้างสรรค์และการคิดเชิงสร้างสรรค์

อัปเดตเมื่อ 9 ต.ค.

การคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Thinking) ทักษะที่ทุกคนมีติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่บางคนกดมันเอาไว้จนไม่สามารถฉายแสงออกมาได้ พวกเราส่วนใหญ่จัดหมวดหมู่นักคิดเชิงสร้างสรรค์ไว้เป็น “กลุ่มคนพิเศษเฉพาะ” ประมาณว่าต้องมีดีเอ็นเอเฉพาะเท่านั้นถึงจะคิดเชิงสร้างสรรค์ได้ แต่ในความเป็นจริงเราทุกคนต่างก็คิดเชิงสร้างสรรค์ได้ดีมาตั้งแต่เป็นเด็กน้อยแล้ว


รู้หรือไม่ว่า จากงานวิจัยเกี่ยวกับความสามารถที่จะคิดให้แหวกแนว ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับความคิดสร้างสรรค์ พบว่า ร้อยละ 98 ของเด็กอายุ 3-5 ปี คิดฉีกแนวเป็น แต่พออายุ 13-15 ปี ความสามารถในการคิดฉีกแนวจะเหลือเพียง 10% เท่านั้น สำหรับคนที่อายุ 25 ปี พบว่ามีเพียง 2% เท่านั้นที่คิดฉีกแนว


หลักฐานสำหรับเรื่องนี้ก็คือ ในสมัยเด็กๆ เราคงเคยดูการ์ตูนแล้วก็เล่นแปลงร่างหรือปล่อยพลังกันมาบ้างจริงมั้ยครับ ซุปเปอร์แมน แบทแมน อุลตร้าแมน ไอ้มดแดง ขบวนการยอดมนุษย์ห้าสี เซลเลอร์มูน ดราก้อนบอล ฯลฯ ยังจำความรู้สึกตอนนั้นกันได้มั้ยครับ เวลาเราเล่นต่อสู้กันแล้วทำท่าปล่อยพลัง เราไม่ได้แค่ทำท่าเลียนแบบตัวการ์ตูนเหล่านั้นนะ แต่ในหัวของเรามีภาพของพลังคลื่นเต่าที่พุ่งออกไปจากมือเราจริงๆ หรือบางคนอาจไม่ได้เล่นต่อสู้แต่เล่นพ่อแม่ลูก มีชุดทำครัวเด็กเล่นอยู่ เราก็เอามาทำท่าทางเหมือนกำลังทำอาหารจริงๆ แล้วก็ส่งให้อีกคนทาน นี่คือหลักฐานว่าตอนเป็นเด็กเรามีจินตนาการที่มากมาย ไม่มีอะไรสามารถมาปิดกั้นจินตนาการของเราได้ ทำให้ความคิดเชิงสร้างสรรค์ของเราเปล่งประกายได้เต็มที่ แต่เมื่อเราเริ่มโตขึ้น ความสามารถในการคิดเชิงสร้างสรรค์จะลดน้อยลงไป หรือจะเพิ่มมากขึ้น ขึ้นอยู่กับการฝึกฝนและการเลี้ยงดูในวัยเด็กที่เราได้รับ บ่อยครั้งที่ผู้ใหญ่อย่างเรา ใช้คำว่า "การสอนให้คิดเป็นเหตุเป็นผล" ไปทำลายความฝันและจินตนาการของเด็กน้อยให้พังทลายลงไป โดยไม่รู้ว่านั่นเป็นการทำลายทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์ของเด็กน้อยลงไปด้วย


Business Dictionary ให้ความหมายของคำว่า "ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity)" เอาไว้ว่า "A way of looking at problems or situations from a fresh perspective that suggests unorthodox solutions (which may look unsettling at first).” จากนิยามของความคิดสร้างสรรค์ข้างบนนี้ เราจะเห็นองค์ประกอบสำคัญสามอย่าง ได้แก่ “วิธีการมองปัญหา (หรือสถานการณ์)” ด้วย “มุมมองที่สดใหม่” เพื่อให้ได้ “ทางออกของปัญหาที่ไม่ใช่แบบที่พบเห็นได้ทั่วไป” ด้วยนิยามนี้ทำให้ความคิดสร้างสรรค์เป็นเรื่องของคนทุกคน ไม่ใช่เฉพาะศิลปินหรือคนที่ทำงานด้าน Creative เท่านั้น


ความคิดสร้างสรรค์ เกิดขึ้นมาจาก “การคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Thinking)” ซึ่งก็คือ “ความสามารถในการพิจารณาอะไรบางอย่างด้วยมุมมองและวิธีการแบบใหม่" คุณอาจจะเคยเห็นข้อมูลของปัญหาในที่ทำงานนี้มาหลายปีแล้ว แต่ถ้าวันนี้คุณลองเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับมันใหม่ ใช้วิธีการคิดที่แตกต่างออกไปจากเดิม จนทำให้คุณเกิดไอเดียแก้ไขปัญหานั้นในแบบที่ปกติคุณไม่ได้ทำ นั่นแหละคือ “การคิดเชิงสร้างสรรค์”


ถ้าเรายึดตามความหมายนี้ การฝึกฝนทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์ก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไรอีกต่อไป แค่เราเริ่มต้นทำตามขั้นตอนเหล่านี้เป็นประจำ


  1. ฝึกมองเรื่องเดิมๆ ที่เราเห็นหรือทำอยู่บ่อยๆ ซ้ำๆ ด้วยมุมมองที่แตกต่างออกไป ลองใช้คำถาม “แล้วถ้าไม่ใช่แบบนี้ล่ะ จะเป็นแบบไหนได้อีกบ้าง”

  2. ลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ เช่น ไปทำงานด้วยเส้นทางใหม่ที่เราไม่เคยใช้ ทำงานเดิมด้วยวิธีการใหม่ที่เราไม่เคยทำ ฟังเพลงแนวใหม่ที่เราไม่ค่อยคุ้นเคย การได้เปลี่ยนมาทำอะไรใหม่ๆ จะช่วยกระตุ้นต่อมสร้างสรรค์ของเราได้ดีทีเดียวเลย

  3. ดูการ์ตูนบ้าง เล่นเกมบ้าง ดูหนังฟังเพลงบ้าง ออกไปเดินเที่ยวตามพิพิธภัณฑ์บ้าง แล้วลองสังเกตวิธีคิด วิธีการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปินเหล่านั้น

  4. ถ้าคุณกำลังเผชิญกับปัญหาที่หาทางออกไม่ได้ ให้เริ่มต้นจากการยอมรับว่าเรามีปัญหา ด้วยความรู้สึกที่ว่า จะไม่ยอมปล่อยให้ปัญหานั้นคงอยู่ตลอดไป จุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหา การพัฒนาให้ดีขึ้น หรือแม้กระทั่งนวัตกรรมพลิกโลก ล้วนเกิดจากความรู้สึกไม่พอใจในบางสิ่งของปัจจุบัน ทุกคนอาจรู้สึกอึดอัดและเบื่อหน่ายเหมือนกัน แต่จะมีสักกี่คนที่จะเลือกไม่ยอมทนต่อปัญหานั้น แล้วลุกขึ้นมาหาอะไรบางอย่างเพื่อจัดการกับมัน

  5. เปิดใจรับฟังคนที่เห็นแตกต่างจากเรา หรืออาจลองเล่าปัญหาที่เราเจออยู่เป็นประจำในการทำงานให้กับเพื่อนที่อยู่คนละวิชาชีพคนละอุตสาหกรรมกับเราแล้วขอความคิดเห็นเขาดู บางครั้งเราอาจได้เรียนรู้มุมมองใหม่ๆ ที่เราไม่เคยเห็น และไม่เคยคิดจะมองเลยก็ได้

  6. ฝึกฝนการจดบันทึกไอเดียของคุณเอาไว้ แล้วนำกลับมารีวิวใหม่เสมอเมื่อมีเวลา ไอเดียสร้างสรรค์มักมาเร็วแล้วก็ไปเร็ว ถ้าคุณไม่รีบจดบันทึกมันไว้ มันจะบินหายไปในชั่วพริบตา

ดู 1,163 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

นวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่เริ่มต้นด้วยคำถามว่า "ทำไม"

คนที่บอกว่าตัวเองไม่มีปัญหาอะไรเลย มีอยู่สองประเภทครับ ถ้าไม่ใช่พยายามหลอกคนอื่น ก็หลอกตัวเองอยู่ ปัญหาเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับการทำงานอยู่แ...

Comments

Rated 0 out of 5 stars.
No ratings yet

Add a rating
bottom of page