top of page
รูปภาพนักเขียนฐิติกร พูลภัทรชีวิน

#โค้ชกันวันละสกิล EP.10 : รู้จักปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ (Adaptive)


ดั่งคำโบราณว่าไว้ "เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม" แต่จะปรับตัวอย่างไรแบบไม่ให้สูญเสียความเป็นตัวเอง ลองมาติดตามอ่านกันดูนะครับ


โค้ชเขียนบทความนี้จากฝั่งประเทศลาว เนื่องจากได้รับเชิญให้มาบรรยายให้นักธุรกิจที่ลาวฟังเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนธุรกิจเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล


เมื่อวานมื้อกลางวัน นักธุรกิจลาวพาไปเลี้ยงอาหารจีน รสชาติอร่อยมาก ถูกปากสุดๆ มื้อเย็น เจ้าของธุรกิจอีกท่านนึงก็พาไปเลี้ยงอาหารสไตล์ฟิวชั่น ผสมผสานระหว่างตะวันตกตะวันออกได้อย่างลงตัว เรียกว่ามารอบนี้อิ่มเอมเปรมปรีดิ์เลยครับ


สำหรับมื้อเที่ยงวันนี้ นักธุรกิจอีกท่านก็พามาที่ร้านอาหารเป็นแพริมน้ำ คราวนี้เสิร์ฟอาหารสไตล์ท้องถิ่นเต็มพิกัด เรียกว่า บางเมนู ไม่รู้เลยว่าคืออะไร รสชาติอร่อยเลยครับ แต่ไม่ค่อยใช่สไตล์ที่ถนัดสักเท่าไหร่

บวกกับระหว่างที่นั่งรถไป ชมเมือง ชมธุรกิจ ในประเทศลาว ก็เลยทำให้รู้สึกว่า ความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ นี่สำคัญจริงๆ


ต่างบ้านต่างเมือง ต่างท้องถิ่น ก็มีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไป ถ้าคุณอยากเข้าถึงคนต่างวัฒนธรรม คุณก็ต้องยอมปรับตัวบ้าง


เช่น ถ้าคุณอยากมาทำธุรกิจที่ลาว แต่ไม่ยอมทิ้งไลฟ์สไตล์แบบคนเมือง คุณก็อาจมาใช้ชีวิตที่นี่ได้ลำบาก ถึงมาเป็นครั้งคราวได้ แต่ก็ยากที่จะได้ใจคนที่นี่ เพราะคุณ "เข้าไม่ถึง" เขา


หรือหากคุณเป็นหัวหน้างาน ที่มีลูกน้องเป็นคนจากประเทศเพื่อนบ้าน คุณอาจทำงานกับเขาได้ เขาอาจเชื่อฟังคุณด้วยตำแหน่งหน้าที่ แต่การจะ "ได้ใจ" คงไม่อาจทำได้ด้วยเรื่องงานเพียงอย่างเดียว


แต่คนก็มีแตกต่างหลากหลาย แล้วจะให้เราปรับเปลี่ยนตัวเองเป็นอย่างไร ถึงจะได้ใจคนทุกประเภท


คำตอบคือ เป็นแบบไหน ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะได้ใจคนทุกประเภทครับ


แต่คุณต้องเป็นคนได้ทุกประเภทต่างหาก ถึงจะมีโอกาสได้ใจคนทุกประเภท


คนรอบตัวโค้ชช่วงนี้มีหลากหลายมาก บางวันสอนผู้บริหารโรงงานอุตสาหกรรม อีกวันไปสอนเกษตรกร อีกวันไปร่วมงานสตาร์ทอัพ บางวันนั่งประชุมในโรงแรมห้าดาว บางวันก็ไปเช่าห้องประชุม Co-Working Space อย่างวันนี้ก็นั่งประชุมในแพบนอ่างเก็บน้ำ


ถ้ายึดติดกับสไตล์ส่วนตัว คงทำแบบนี้ไม่ได้แน่ๆ


แปลว่าเราจะต้องยอมสูญเสียความเป็นตัวเองไปเหรอ คำตอบคือ ไม่ใช่ครับ


เราแค่ลดบางอย่างที่เป็นตัวเราลง บางอย่างในที่นี้ไม่ใช่สิ่งที่เป็นตัวตน เป็นแก่นของเรา แต่เรายอมปรับไลฟ์สไตล์บางอย่าง ลดในส่วนที่เป็นแค่เปลือกของชีวิต


เช่น สไตล์การแต่งตัว สไตล์การรับประทานอาหาร สไตล์การพูด ฯลฯ


ถ้าคุณอยากได้ใจลูกน้อง คุณก็ต้องคุยภาษาเดียวกับเขา ถ้าลูกน้องคุณชอบเตะบอล คุณก็อาจจะต้องหาเวลาลงไปเตะบอลกับเขา หรือเชียร์เขาบ้าง ถ้าลูกน้องคุณชอบดาราเกาหลี (หรืออาจจะชอบหมอลำซิ่ง) คุณก็ต้องฝึกฟังเพลงสไตล์เขาบ้าง พอให้รู้และคุยกันได้


ในทางกลับกัน ถ้าคุณอยากได้ใจหัวหน้า อยากเป็นคนที่อยู่สายตาของผู้บริหารระดับสูง คุณก็ต้องหมั่นเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจ เทคโนโลยี การเมือง อัพเดทความรู้ใหม่ๆ ในการทำธุรกิจ เพื่อให้คุยกับเขารู้เรื่องเช่นกัน




  1. ใช้เวลากับตัวเอง ตอบตัวเองให้ได้ว่าตัวตนที่แท้จริงของตัวเองเป็นคนแบบไหน ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร แยกแยะให้ออกว่า อะไรที่เป็นแก่นของตัวตนที่เราจะไม่ยอมเปลี่ยน อะไรที่เป็นแค่เปลือกภายนอกที่เราควรปรับเปลี่ยนได้

  2. มองไปที่คนรอบตัวเรา เลือกมาสักหนึ่งคนที่เรารู้สึกอยากชนะใจ (ขอแนะนำว่าสำหรับช่วงแรก โฟกัสแค่ 1 คนก่อนก็พอ) ทำความเข้าใจในตัวเขาว่า เขาเป็นคนแบบไหน ไลฟ์สไตล์เป็นอย่างไร พร้อมกับลองคาดเดาว่า ถ้าเราอยากชนะใจเขา เราควรต้องทำอย่างไร

  3. ทดสอบสมมติฐานโดยการทดลองทำตามที่เราคาดเดาไว้ สำคัญที่สุดคือ อย่ามั่นใจว่าเราคิดถูกแล้ว จนกว่าจะเห็นผลลัพธ์ที่แท้จริง ทุกครั้งที่เราพูดหรือทำอะไรบางอย่าง ให้เราสังเกตปฏิกิริยาโต้ตอบของเขา โดยเฉพาะภาษากาย เช่น แววตา สีหน้า ท่าทาง เป็นต้น

  4. ถ้ารู้สึกว่า คุณคาดเดาผิดพลาด อย่าพยายามมั่นใจต่อไป ลองปรับสมมติฐานใหม่ แล้วทดลองจนกว่าจะเจอคำตอบที่ใช่

  5. ฝึกฝน ฝึกฝน และฝึกฝน จนกว่าคุณจะปรับตัวเก่งขึ้น


** ถ้าหากคุณรู้สึกว่ายังไม่รู้จักตัวเองดีพอ หรือไม่ค่อยเข้าใจคนรอบตัว ผมขอแนะนำให้ทดลองใช้แบบทดสอบเชิงพฤติกรรมเป็นเครื่องมือช่วยให้เรารู้จักตัวเองและคนอื่นมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีอยู่หลายตัว แต่ผมขอแนะนำเป็นการส่วนตัวให้ทดลองใช้ Working Tribes ดูครับ คุณสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ www.workingtribes.com

ดู 51 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments

Rated 0 out of 5 stars.
No ratings yet

Add a rating
bottom of page