top of page
รูปภาพนักเขียนฐิติกร พูลภัทรชีวิน

#โค้ชกันวันละสกิล EP.5 : การตั้งคำถาม (Questioning)

อัปเดตเมื่อ 29 พ.ย. 2562



ฟังแบบ Podcast ได้ที่นี่


ในอดีตเรามีคำกล่าวว่า "ไม่มีคำถามไหนที่ดูโง่เกินไป" แต่สำหรับในยุคปัจจุบันนี้ ประโยคนี้คงต้องมีการปรับแก้ให้ทันสมัยขึ้นเล็กน้อยเป็น


"ไม่มีคำถามไหนที่ดูโง่เกินไป ยกเว้นคำถามที่แค่กูเกิ้ลดูก็ได้คำตอบแล้ว"

การตั้งคำถาม เป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่เราจะได้รับข้อมูลที่เราต้องการ เราใช้คำถามในการสัมภาษณ์เพื่อให้เรารู้จักคนที่เรากำลังสัมภาษณ์มากยิ่งขึ้น เราใช้คำถามในการซื้อของเพื่อให้ได้ข้อมูลที่จำเป็นในการตัดสินใจซื้อของเรา เราใช้คำถามในการรับมอบหมายงานเพื่อให้รู้ว่าเจ้านายของเราต้องการอะไรจากเรา และบางครั้งเราใช้คำถามกับตัวเองเพื่อให้เราตกผลึกทางความคิดมากยิ่งขึ้น


จริงๆ แล้วการตั้งคำถามเป็นสิ่งที่เราทำได้ตั้งแต่ยังเป็นเด็กน้อยด้วยซ้ำ ในช่วงนั้นเราถามทุกอย่างที่เราไม่รู้แล้วอยากรู้ แต่เมื่อเราเริ่มโตขึ้น เราเริ่มถามน้อยลง เพราะบางครั้งเราถามไปแล้วคนไม่อยากตอบ ซ้ำร้ายคนยังมาด่าเราว่าโง่บ้าง ซื่อบื้อบ้าง โดยธรรมชาติเมื่อเราไม่อยากดูโง่ในสายตาคนอื่น เราจึงพยายามถามให้น้อยที่สุด แล้วทำเหมือนเข้าใจไปซะทุกเรื่อง


การที่เรา "ไม่รู้" แล้ว "ไม่ถาม" อาจทำให้เราดู "ไม่โง่" ในสายตาคนอื่น แต่จะทำให้เรา "ไม่ฉลาด" ขึ้นเลยแม้สักนิดเดียว


พูดแบบนี้ไม่ได้แปลว่าให้ถามทุกเรื่องที่ไม่รู้นะครับ ถ้าเป็นเมื่อก่อนผมก็คงสนับสนุนให้ทำแบบนั้น แต่ในยุคสมัยที่ความรู้อยู่แค่ปลายนิ้ว การถามคำถามที่แค่กูเกิ้ลดูก็รู้คำตอบ มันก็ไม่น่าถามจริงๆ แหละครับ



ว่ากันว่า นี่คือทักษะที่สำคัญที่สุดในการเป็นโค้ช !!!


เพราะการโค้ช ไม่ใช่การให้คำแนะนำ ไม่ใช่การสั่งให้ทำ แต่คือการดึงเอาศักยภาพที่อยู่ภายในตัวโค้ชชี่ออกมา นั่นหมายความว่าโค้ชชี่จะต้องเป็นคนคิดและตัดสินใจเลือกทางเลือกต่างๆ ด้วยตัวเอง

สิ่งที่โค้ชจะทำ คือ การใช้คำถามที่ดี ช่วยให้โค้ชชี่ได้คิดในมุมมองที่ไม่เคยได้คิด หลุดออกจากกับดักทางความคิดของตัวเอง โดยไม่ชี้นำคำตอบแต่อย่างใด


จริงๆ แล้วการตั้งคำถามในแต่ละสถานการณ์อาจมีเทคนิคที่แตกต่างกันไป ในที่นี้จะขอแนะนำเทคนิคกว้างๆ ที่สามารถประยุกต์ใช้ได้ในทุกสถานการณ์นะครับ


  1. ถามตัวเองก่อนทุกครั้งว่า เราจะถามเพื่ออะไร เราต้องการอะไรจากคำตอบของคำถาม เช่น เราต้องการข้อมูลเพิ่มเติม เราต้องการการยืนยัน เราต้องการตรวจสอบความเข้าใจของเราว่าถูกต้องหรือไม่ ฯลฯ การมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนจะช่วยให้เราสามารถเลือกวิธีการถามที่เหมาะสมได้

  2. ถามตัวเองก่อนทุกครั้งว่า เราควรถามคำถามนั้นหรือไม่ เราได้ทำในส่วนที่เราควรทำเพียงพอแล้วหรือยัง หรือว่าเราเพียงแค่รีบถามเพราะ "มักง่าย" อย่างที่บอกไปว่า ไม่มีคำถามไหนที่โง่เกินกว่าที่จะถาม แต่สำหรับบางเรื่องเราก็ควรทำในส่วนของเราก่อน ค้นคว้าด้วยตัวเองบ้าง แทนที่จะพึ่งพาแต่คนอื่น ตรงนี้ผมมีทริกอย่างนึงที่สามารถเอาไว้ใช้ในการตัดสินใจได้ว่าควรจะถามหรือไม่ถาม เพียงแค่คุณดูว่าเรื่องที่คุณจะถามเป็นข้อมูลทั่วไป หรือความรู้ที่หาได้ง่ายตามอินเตอร์เน็ตหรือไม่ ถ้าใช่ คุณก็ควรจะต้องลองค้นหาข้อมูลด้วยตัวเองก่อน แต่หากความรู้นั้นเป็นเรื่องที่เป็นเทคนิคเฉพาะตัว ประสบการณ์ที่สะสมไว้ ความรู้เฉพาะในที่ทำงานหรือสายวิชาชีพ ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องที่อาจหาได้ในอินเตอร์เน็ต แต่ก็ยากที่จะนำมาประยุกต์ให้เข้ากับบริบทของที่ทำงาน เรื่องแบบนี้ไม่ควรเสียเวลาหาความรู้ด้วยตัวเอง ควรถามทันทีครับ

  3. ถามตัวเองก่อนทุกครั้งว่า คนที่เรากำลังจะถาม ใช่คนที่เราควรถามหรือไม่ บ่อยครั้งที่เราถามในสิ่งที่เขาเองก็ไม่รู้ ซึ่งถ้าเขาบอกตรงๆ ว่าไม่รู้ก็คงไม่เป็นไร แต่ก็บ่อยครั้งอีกเช่นกันที่คนที่ถูกถาม พยายามตอบทั้งๆ ที่เขาไม่รู้ นั่นยิ่งสร้างปัญหาให้เรามากกว่าการที่เราไม่ถามด้วยซ้ำ

  4. เลือกใช้วิธีการถามที่ถูกต้อง เช่น หากคุณต้องการยืนยันข้อมูล คุณก็ควรใช้คำถามปลายปิด (ใคร, ที่ไหน, เมื่อไหร่, ใช่หรือไม่) แต่หากคุณต้องการได้รับข้อมูลเพิ่มเติม คุณก็ควรใช้คำถามปลายเปิด (เพราะอะไร, ทำไม, อย่างไร)

  5. ควรระวังเรื่องโทนเสียงที่ใช้ด้วย เพราะบ่อยครั้งการถามคำถามที่ต้องการข้อมูลความรู้เพิ่มเติมด้วยเจตนาดีแต่มีโทนเสียงที่ไม่เหมาะสม คนฟังกลับรู้สึกว่าโดนลองภูมิหรือหาเรื่องก็เป็นไปได้

  6. ในกรณีที่เรื่องที่จะถามเป็นเรื่องที่คุณทำการบ้านมาบ้างแล้ว การพูดถึงสิ่งที่คุณค้นคว้ามาเบื้องต้น ก็เป็นสิ่งดีที่จะช่วยให้คนตอบอยากตอบคำถามมากยิ่งขึ้น (เช่น ผมได้ค้นหาข้อมูลของเรื่องนี้มาบ้างแล้วครับ ผมเข้าใจว่า..... แต่ผมยังไม่เข้าใจ..... จึงอยากขอให้พี่ช่วยอธิบายให้ผมฟังหน่อยครับ ว่าตรงนี้หมายถึงอะไร)

  7. ถามทีละหนึ่งคำถามเท่านั้น ลองสังเกตเทคนิคการตั้งคำถามของพิธีกร/ผู้ดำเนินรายการเก่งๆ เขาจะยิงทีละคำถาม เพื่อช่วยให้คนฟังอย่างพวกเราสามารถโฟกัสกับคำตอบได้ และยังช่วยให้คนตอบสามารถตอบได้อย่างตรงประเด็นมากยิ่งขึ้นด้วย

  8. เมื่อถามแล้ว ต้องตั้งใจฟังคำตอบด้วย อย่ามัวแต่คิดว่าจะพูดหรือถามอะไรต่อไป มีแค่ไม่กี่คนหรอกครับที่จะยอมตอบคำถามเดิมซ้ำๆ โดยเฉพาะเมื่อเขาพึ่งพูดเรื่องนั้นไปแล้วคุณไม่ทันได้ฟัง

ดู 181 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments

Rated 0 out of 5 stars.
No ratings yet

Add a rating
bottom of page