top of page
รูปภาพนักเขียนฐิติกร พูลภัทรชีวิน

โค้ชกันวันละสกิล EP.8 : เปิดใจรับความแตกต่าง (Open Mind)

อัปเดตเมื่อ 20 ม.ค. 2563



เพราะรากปัญหาของดราม่าระดับประเทศ ส่วนใหญ่มาจากการไม่ยอมรับความแตกต่างของกันและกัน

ฟังแบบ Podcast ได้ที่นี่



จากภาพวาดที่เปี่ยมด้วยศรัทธา มองศาสดาของศาสนาเหมือนฮีโร่ที่มาช่วยปราบปรามมารร้าย สื่อออกมาผ่านภาพวาดที่สวยงามและเปี่ยมด้วยความคิดสร้างสรรค์


กลายมาเป็นคนบ่อนทำลายศาสนา ลบหลู่ศาสดา โดนรุมด่าจากทั้งประเทศในชั่วข้ามคืน #พระพุทธรูปอุลตร้าแมน


นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของดราม่าแบบนี้ในประเทศไทย


ก่อนนี้ก็มีเรื่องชุดโขน ทศกัณฐ์พาเที่ยวไทย #เที่ยวไทยมีเฮ ที่กลายเป็นวิวาทะ ปะทะคารมระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่


หรือแม้กระทั่งการประชุมสภาแบบมาราธอนด้วยหัวข้อเครื่องแต่งกายของ สส. ที่ผ่านมา จนหลายคนสงสัยว่า นี่เราต้องยอมเสียเงินภาษีกับการประชุมในเรื่องนี้ไปอีกเท่าไหร่


และดราม่าอื่นๆ อีกมากมาย


ถ้าเรามองไปที่รากของปัญหา เราจะเห็นว่าหนึ่งในนั้นก็เพราะ คนไทยเราขาดทักษะ "เปิดใจรับความแตกต่าง" นี้แหละ


ใครเห็นต่างคือผิด ใครเห็นต่างถือเป็นศัตรู เพราะฉันคือ "คนไทยส่วนใหญ่" #คนไทยหรือเปล่า


เมื่อคนไม่ยอมเปิดใจรับความแตกต่าง ความแตกต่างจึงกลายเป็นความแตกแยก นี่คือสิ่งที่เราต้องการกันในสังคมไทยจริงๆ หรือ


Open Mind หรือการเปิดใจรับความแตกต่าง เป็นทักษะที่สำคัญมากๆ โดยเฉพาะในยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างของวัฒนธรรมเก่าใหม่ ความแตกต่างของคนที่ต่างวัยต่างสไตล์ ความแตกต่างของความเชื่อทางศาสนา ความแตกต่างของจุดยืนทางการเมือง


ความแตกต่างคือความสวยงาม


เหมือนที่ผมพูดบ่อยๆ ในงานสัมมนาว่า ไม่ว่าคุณจะชอบสีอะไรเป็นพิเศษ แต่ถ้าให้ทั้งบ้านของคุณทาสีนั้นสีเดียว เฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นก็เป็นสีนั้น คุณจะบอกว่าบ้านของคุณสวยงามมั้ย


งานศิลปะต้องประกอบด้วยสีอย่างน้อยสองสีฉันใด ชีวิตเราจะงดงามสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อมีคนที่แตกต่างมาช่วยแต่งแต้มสีสันให้กับเรา







  1. เตือนตัวเองทุกครั้งก่อนที่จะรับฟังข่าวสารอะไร ว่าเราจะไม่ "ด่วนตัดสิน" ขอให้ระลึกอยู่เสมอว่า ตัดสินคนอื่นช้าไม่ได้เสียหายอะไรเท่ากับตัดสินคนอื่นผิด

  2. ถ้าเมื่อไหร่ที่รู้สึกไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงคิดแบบนั้น ให้ลองคิดถึงความเป็นไปได้หลายๆ ทาง ตั้งแต่ทางที่ลบที่สุด ไปจนถึงทางที่บวกที่สุด อย่างเช่น เมื่อเห็นรูปพระพุทธรูปอุลตร้าแมน ความเป็นไปได้ก็มีตั้งแต่ ตั้งใจล้อเลียนลบหลู่ศาสนา ไม่ได้ตั้งใจแต่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ จนถึงตั้งใจดีและทำออกมาโดยเจตนา

  3. เมื่อเรายังไม่รู้แน่ชัด ผมแนะนำให้เลือก "เชื่อในส่วนดี" ของคนอื่นไว้ก่อน นั่นแปลว่าเรา ควรเลือกเชื่อว่า เขาตั้งใจดีและทำออกมาโดยเจตนา หรือเชื่อว่าเขารู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ยังดี เหตุผลง่ายๆ ที่เราควรเลือกเชื่อในส่วนดีของคนอื่นก็เพราะ ถ้าหากเป็นเรา เราก็คงอยากให้คนอื่นเชื่อในส่วนดีของเราก่อนเช่นกัน

  4. ถ้าคุณมีจุดยืนที่ชัดเจน และคุณรู้ตัวว่า คุณมีการปะทะกับคนอื่นที่มีจุดยืนต่างกับคุณอยู่เป็นประจำ ให้คุณลองวางอคติของคุณลงแล้วเปิดใจรับฟังข้อมูลจากคนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับคุณบ้าง นี่ไม่ได้แปลว่าคุณต้องยอมเปลี่ยนจุดยืน แค่ลองมองให้รอบด้านมากขึ้น อย่าลืมนิทานเรื่อง "ตาบอดคลำช้าง" จะมั่นใจว่าตัวเองถูกไปทำไม ในเมื่อจริงๆ แล้วเราได้สัมผัสความจริงแค่ส่วนเดียว

  5. หมั่นศึกษาหาข้อมูลจากทั่วทุกมุมโลก เรียนรู้จักวัฒนธรรมที่แตกต่าง ลองออกเดินทางไปเที่ยวในที่แปลกๆ แล้วลองใช้ชีวิตในแบบที่คนในพื้นที่นั้นใช้กันดูบ้าง

  6. ฝึกฝน Empathy ความเข้าใจในเพื่อนมนุษย์ด้วยกันจะช่วยให้เรามีหัวใจที่เปิดกว้าง รับความแตกต่างได้มากยิ่งขึ้น (สำหรับคนที่ยังไม่ได้อ่านเรื่อง Empathy แนะนำให้เข้าไปอ่านได้ที่ลิงค์นี้ครับ https://www.doyourwill.co.th/post/ep7empathy)

ดู 203 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments

Rated 0 out of 5 stars.
No ratings yet

Add a rating
bottom of page