หนึ่งในคำถามยอดฮิตทุกยุคทุกสมัย ที่ไม่ว่าไปดูตามเว็บบอร์ดหรือเฟซบุ๊คกรุ๊ปไหน ที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจก็ต้องเจอ "ผม/หนูจะทำธุรกิจอะไรดีคะ"
สิ่งที่เราจะได้พบภายใต้โพสต์นั้นก็คือ คำแนะนำเกี่ยวกับธุรกิจมากมาย มีทั้งธุรกิจพื้นฐานทั่วไปที่เริ่มต้นได้ง่าย เช่น ขายอาหาร ขายเสื้อผ้า รับสินค้ามาขายต่อ มีทั้งคนมาเสนองานให้เป็นตัวแทนจำหน่าย แล้วก็มีทั้งเชิญชวนให้ไปเป็นดาวน์ไลน์ในธุรกิจเครือข่ายของเขา
แต่จนแล้วจนรอด เจ้าของโพสต์ก็เหมือนจะยังไม่ได้คำตอบอยู่ดี
เหตุผลก็เพราะพวกเขารู้สึกว่า "ธุรกิจนั้นไม่เหมาะกับตัวเอง"
หนึ่งเรื่องที่การทำธุรกิจต่างกับการทำงานประจำ ก็คือ "เปลี่ยนงานยาก"
ถ้าคุณไปสมัครงานเป็นพนักงานบริษัทหนึ่ง แล้วเกิดรู้สึกไม่พอใจกับงานนั้น คุณก็ยังสามารถเลือกลาออกมาเพื่อไปหางานอื่นทำได้
แต่ถ้าคุณเริ่มต้นลงทุนทำธุรกิจไปแล้ว เช่น ลงทุนตกแต่งร้าน ซื้อเครื่องมือมามากมาย ซื้อสินค้ามาตุนไว้ จ้างพนักงานมาทำงาน แล้วค่อยมาพบว่าธุรกิจนั้นไม่ใช่ธุรกิจที่คุณอยากทำมันจริงๆ ก็ยากนะที่จะตัดใจทิ้งสิ่งที่ลงทุนไปแล้วมากมายได้ ส่วนใหญ่จึงต้องฝืนใจทำกันต่อไปเรื่อยๆ
แล้วก็อย่างที่ทุกคนรู้ เวลาเราทำอะไรด้วยความฝืนใจ การจะคาดหวังให้สิ่งนั้นออกมาดีเลิศ ก็ช่างยากจนอยากจะใช้คำว่า "เป็นไปไม่ได้" เสียเหลือเกิน
ดังนั้นวันนี้ โค้ชจะชวนทุกคนมากลัดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกเสียก่อน ด้วยการตอบคำถามง่ายๆ 8 ข้อในแคนวาสนี้ครับ
การหาคำตอบว่าคุณควรเริ่มต้นทำธุรกิจไหน สามารถทำได้ง่ายๆ โดยการใช้แคนวาสนี้
ถ้าคุณคิดที่จะเริ่มต้นทำธุรกิจด้วยตัวคนเดียว ก็สามารถทำแคนวาสนี้ได้ด้วยตัวเอง หรือถ้าคุณมีเพื่อน/หุ้นส่วนที่ตั้งใจจะทำธุรกิจด้วยกัน ก็สามารถใช้แคนวาสนี้ในการระดมสมองร่วมกันได้
แคนวาสนี้สามารถใช้ได้สองแบบ
แบบแรกสำหรับคนที่ยังไม่มีไอเดียธุรกิจเลย ก็ให้ค่อยๆ คิดตามลูกศรไปเรื่อยๆ ทีละขั้นตอนจนครบ (เรียงจาก 1 ไปถึง 9)
แบบที่สองสำหรับคนที่มีไอเดียธุรกิจอยู่แล้ว สามารถเริ่มจากการเขียนไอเดียธุรกิจลงไป (เริ่มจาก 4) แล้วพยายามตอบคำถามให้ครบทุกข้อ
ในบทความนี้จะอธิบายวิธีการใช้งานแคนวาสแบบแรกกันนะครับ มาเริ่มกันเลย !!
ข้อที่ 1 คุณมี "ความรู้" เรื่องอะไรบ้าง :
คุณเรียนจบสาขาไหนมา เคยอ่าน เคยอบรม หรือเคยแสวงหาความรู้เรื่องอะไรมาจนรู้ลึกรู้จริงบ้าง จริงอยู่ว่าคุณสามารถเรียนรู้เรื่องราวของธุรกิจใหม่ๆ ที่คุณกำลังสนใจเพิ่มได้ แต่การเริ่มต้นจากสิ่งที่คุณรู้อยู่แล้วก็ช่วยลดทอนต้นทุนและเวลาไปได้มากเลยทีเดียว
ตัวอย่างคำตอบในช่องนี้ เช่น จบปริญญาตรีวิศวกรรมเคมี ได้รับ Certificate ด้าน A.I. & Machine Learning เป็นต้น
รู้อะไรมั้ยครับ แม้ว่าใบปริญญาหรือ Certificate ต่างๆ จะช่วยคุณในการทำธุรกิจได้น้อยมาก แต่ในบางครั้งสิ่งเหล่านี้ก็ช่วยให้คุณได้รับความมั่นใจจากนักลงทุนได้มากขึ้นนะ ลองคิดดูสิว่าถ้ามีคนสองคนที่มีไอเดียแบบเดียวกัน นำเสนอได้ดีพอๆ กัน ฝ่ายหนึ่งบอกว่าจบการศึกษาคณะที่เกี่ยวข้องมาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ และยังมีใบ Certificate จากบริษัทยักษ์ใหญ่ด้วย กับอีกฝ่ายที่บอกว่าจบการศึกษาแค่ ม.6 และไม่เคยมีความรู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องที่นำมาเสนอเลย มีแต่ Passion ล้วนๆ ถ้าคุณเป็นนักลงทุนจะเลือกลงทุนในคนไหนมากกว่ากัน
ข้อที่ 2 คุณมี "ทักษะที่เชี่ยวชาญ" อะไรบ้าง :
คุณเก่งเรื่องการซ่อมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านทุกประเภท หรือแค่ได้ยินเสียงเครื่องยนต์ก็รู้แล้วว่าอะไหล่ตัวไหนเสีย คุณวาดรูปเก่ง เขียนหนังสือดี ทำอาหารอร่อย ทักษะเหล่านี้ล้วนเป็น "ต้นทุน/ข้อได้เปรียบ" ที่คุณมีติดตัวมาอยู่แล้ว หากคนอื่นจะพัฒนาให้ตามคุณทันก็ต้องใช้เวลาสักพักใหญ่ๆ การจะไม่นำมันมาใช้ให้เกิดประโยชน์เชิงธุรกิจก็ดูน่าเสียดายไปนิดนึง
แต่สิ่งที่ต้องระวังที่สุดสำหรับการตอบช่องนี้คือ คุณต้องเขียนเฉพาะสิ่งที่คุณทำได้ในระดับ "เชี่ยวชาญ" จริงๆ นั่นแปลว่าคุณต้องทำได้ดีเหนือกว่าระดับมาตรฐานไปพอสมควรเลย อะไรที่คุณแค่ "พอทำได้" หรือ "ทำได้เหมือนคนอื่นๆ" ไม่ควรนำมาเขียนในช่องนี้ เพราะมันอาจทำให้คุณสำคัญตัวผิดจนตัดสินใจลงทุนในธุรกิจที่คุณไม่มีข้อได้เปรียบเลยก็ได้ เช่น คุณทำอาหารให้ทุกคนในบ้านทานทุกวันแล้วคนในบ้านบอกว่าอร่อย คุณเลยคิดว่าจะไปเปิดร้านอาหารเพราะเชื่อว่าคนอื่นทานแล้วก็ต้องรู้สึกอร่อยเหมือนกัน แบบนี้โอกาสไปไม่รอดก็ค่อนข้างสูงทีเดียว
ข้อที่ 3 ในเรื่องที่คุณมีความรู้ความเชี่ยวชาญนั้น มี "ประสบการณ์ที่น่าเจ็บปวด" อะไรอยู่บ้าง :
บางครั้งเราอาจเรียกข้อนี้ว่า "Insight หรือข้อมูลเชิงลึกจากผู้ที่เคยเผชิญปัญหานั้นด้วยตัวเอง" ก็ได้
คุณอาจเคยทำงานเป็นวิศวกรฝ่ายขาย แล้วรู้สึกว่าการต้องคอยอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจเครื่องจักรที่มีความซับซ้อนของคุณด้วยโบรชัวร์ มันเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง จะให้เอาเครื่องมาสาธิตให้ลูกค้าทุกคนดู ก็ใช้ต้นทุนสูงเกินไป คุณอาจรู้สึกว่า การต้องส่งเอกสารให้ล่ามช่วยแปลภาษาให้ต้องใช้เวลารอนาน จนบ่อยครั้งที่ทำให้คุณเสียโอกาสทางธุรกิจดีๆ ไป หรือคุณอาจรู้สึกว่า ทุกวันนี้เวลาจะจดบันทึกอะไรสักอย่างในไอแพด มันมีแต่สมุดบันทึกรูปแบบเรียบง่ายเกินไป ไม่ตรงกับสไตล์ที่คุณชอบ จะให้ออกแบบเองก็ทำไม่เป็น
เหล่านี้ล้วนเป็น "ประสบการณ์ที่น่าเจ็บปวด" ที่แฝงซ่อนตัวอยู่ตามมุมหลืบต่างๆ จริงๆ แล้วเราไม่ใช่ไม่เคยเห็นพวกมันหรอกนะ แต่เรามองข้ามมันไปเพราะอยู่กับมันจนเคยชินไปแล้วต่างหาก
และถ้ามีคนที่เคยรู้สึกเจ็บปวดเหมือนเราอยู่มากพอ นั่นแหละ คือโอกาสทางธุรกิจชั้นดีเลยทีเดียว
โดยสรุป สำหรับข้อที่ 1-3 นั้น เป็นแนวทางที่เหมาะสำหรับคนที่ยังนึกไม่ออกเลยว่าจะเริ่มทำธุรกิจอะไรดี โดยการให้มองย้อนกลับมาดูในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่แล้ว ซึ่งอาจทำให้เราได้เปรียบเหนือคนอื่น แล้วเริ่มต้นที่จุดนั้น เราอาจมีความรู้ที่มากกว่าคนอื่นในบางเรื่อง มีความเชี่ยวชาญที่เหนือกว่าคนอื่นในบางเรื่อง หรือเราอาจมองเห็นปัญหาและรากของปัญหาในเชิงลึกมากกว่าคนอื่นๆ ที่ไม่เคยทำงานแบบเดียวกันกับเราก็ได้ ผมเชื่อนะว่าเมื่อคุณค่อยๆ ตอบคำถามทั้งสามข้อแรกได้แล้ว คุณจะเริ่มพอจะบอกตัวเองได้แล้วว่า "โอกาสทางธุรกิจอะไรบ้างที่คุณสามารถเริ่มต้นทำได้"
ข้อที่ 4 ธุรกิจของคุณกำลังจะ "แก้ปัญหาอะไร" และ "เพื่อใคร" :
มาถึงตรงนี้ คุณอาจเริ่มมีไอเดียบางอย่างเกี่ยวกับธุรกิจของคุณขึ้นมา คุณสามารถเขียนไอเดียโดยสรุปของคุณไว้ในช่องนี้ได้
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ คุณต้องพยายามตอบคำถามสองคำถามนี้ให้ได้ นั่นก็คือ
ถ้าไอเดียที่คุณคิดขึ้นมานั้น เกิดขึ้นมาบนโลกใบนี้จริงๆ มันจะช่วยแก้ปัญหาอะไร หรือบรรเทาความเจ็บปวดเรื่องใดลงได้บ้าง
ปัญหาหรือความเจ็บปวดนั้นเป็นของใคร พยายามอธิบายเพื่อให้เห็นภาพกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนที่สุด
ข้อที่ 5 คุณมี "ความมีความรู้สึกปรารถนาอย่างยิ่ง" ที่จะเห็นปัญหานั้นได้รับการแก้ไข
สำหรับคุณแล้วการทำให้ไอเดียธุรกิจนั้นเกิดขึ้นได้จริง มีความสำคัญมากขนาดไหน ทางแก้ปัญหาหรือบรรเทาความเจ็บปวดที่คุณกำลังจะสร้างมันขึ้นมา มีความหมายกับคุณอย่างไร คุณมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะทำให้ไอเดียนั้นลืมตาขึ้นมาดูโลกได้จริงๆ หรือไม่ หรือก็แค่ "ถ้ามันเกิดขึ้นมาได้ก็ดี" ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร
นี่แหละคือสิ่งที่คุณมักได้ยินจากบรรดาโค้ชบอกคุณว่า ให้เริ่มจากการค้นหาให้เจอก่อนว่า "คุณมี Passion ในเรื่องไหน"
วิธีการสังเกตตัวเองง่ายๆ ก็แค่ลองเริ่มต้นทำสิ่งนั้นในระดับเล็กๆ ดูก่อน ลองเอาไอเดียแก้ไขปัญหาที่คุณคิดไปช่วยแก้ปัญหาให้กับใครบางคนที่กำลังอยู่ในปัญหานั้นจริงๆ ดู สิ่งสำคัญยังไม่ใช่ว่า ไอเดียของคุณสำเร็จหรือล้มเหลว แต่สิ่งสำคัญคือ ความรู้สึกของคุณในระหว่างที่คุณกำลังทำสิ่งนั้นอยู่ต่างหาก ถ้าคุณลองทำแล้วมันล้มเหลว คุณรู้สึกอย่างไรระหว่าง "ไม่เป็นไรเดี๋ยวลองหาวิธีอื่นดู" หรือ "ช่างมัน ไม่ทำละ" แล้วถ้าบังเอิญคุณลองทำแล้วมันสำเร็จ คุณรู้สึกอย่างไรที่คุณได้เห็นคนๆ นั้นหลุดออกจากปัญหาระหว่าง "อืม ก็ดีนะ" กับ "มันช่างน่ายินดีและภาคภูมิใจ"
ในวันที่ธุรกิจเดินไปได้ราบรื่นดีไม่มีปัญหา Passion อาจจะดูไม่สำคัญเท่าไหร่ แต่หากธุรกิจของคุณเจอหินสะดุด ชนเข้ากับปัญหาใหญ่ หรือกำลังสับสนวุ่นวายเหมือนเรือที่ลอยเคว้งคว้างอยู่กลางทะเล เมื่อนั้นแหละที่ Passion จะเข้ามาช่วยคุณให้คุณสามารถเข้มแข็งยืนหยัดต่อสู้ต่อไปได้
ข้อที่ 6 สิ่งที่คุณ "ต้องการจะได้รับ" เมื่อปัญหานั้นได้รับการแก้ไข :
อย่าลืมว่า เรากำลังคุยเรื่องการทำธุรกิจ ไม่ใช่ทำมูลนิธิที่ไม่แสวงหาผลกำไร การที่เราช่วยใครสักคนในการแก้ไขปัญหา เราก็สมควรได้รับค่าตอบแทนกลับมา แน่นอนว่าค่าตอบแทนแบบสากลที่แทบทุกคนต้องการ ก็คือ "เงิน" และนี่คือจุดที่คุณต้องเริ่มคิดว่า คุณจะได้รับเงินค่าตอบแทนที่คุณสามารถแก้ปัญหาให้กับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างไรและเท่าไหร่
แม้ว่าเงินจะสำคัญจนเปรียบเสมือนเป็นกระแสเลือดที่ไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงทุกอวัยวะของธุรกิจ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องให้ความสำคัญกับการสร้างรายได้สูงสุด เอาเข้าจริงๆ ยังมีธุรกิจอีกมากมายที่สำเร็จอย่างยั่งยืนเพราะไม่ได้ให้เรื่องเงินเป็นที่หนึ่ง
สำหรับธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) หัวใจสำคัญคือ การพยายามหาทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจนชินตาในสังคม โดยเฉพาะปัญหาที่บางครั้งภาครัฐอาจไม่ได้สนใจ คนส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะมองข้าม ดังนั้นสิ่งที่พวกเขา "ต้องการจะได้รับ" จึงเป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างเงินและรอยยิ้มของคนที่เขาเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาให้นั่นเอง
สำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพ หัวใจสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตแบบสเกลอัพไปได้ ไม่ใช่การสร้างกำไรมากๆ ในระยะเวลาสั้นๆ แต่เป็นการสะสมฐานลูกค้าที่จงรักภักดีเอาไว้จนมากเพียงพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างบนโลกนี้ โมเดลธุรกิจของกลุ่มนี้จึงเอาเรื่องเงินค่าบริการไว้เป็นเรื่องรอง แล้วหันไปเน้นที่การเพิ่มปริมาณผู้ใช้งานระบบเป็นเรื่องหลัก นั่นทำให้เราได้ยินกันอยู่บ่อยๆ ว่า สตาร์ทอัพระดับโลกหลายเจ้า ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีกำไรเลยด้วยซ้ำ
โดยสรุป ข้อ 4-6 คือ จุดที่ไอเดียธุรกิจของเราเริ่มต้นเป็นรูปร่างมากขึ้น แต่ก่อนที่จะลงมือทำมันทันที ให้คุณกลับมาทบทวนกับตัวเองก่อนดีๆ ว่า นั่นใช่ธุรกิจที่เราอยากทำมันไปทั้งชีวิตหรือไม่ มันคือสิ่งที่เราอยากทำเพราะเรารู้สึกมี Passion กับมัน และมันก็สามารถตอบสนอง Motivation ในชีวิตของเราได้ด้วย เมื่อคุณตอบคำถามมาจนครบ 6 ข้อ ผมเชื่อว่าคุณจะพอตอบตัวเองได้แล้วว่า "ท่ามกลางโอกาสหรือไอเดียที่มากมาย ตัวคุณเองควรเลือกทำธุรกิจใด"
ตั้งแต่ข้อที่ 7 ไปถึงข้อที่ 9 จะช่วยให้คุณได้ทบทวนตัวเองว่า คุณมีความพร้อมที่จะคว้าโอกาสนั้นเอาไว้มากน้อยขนาดไหน
ข้อที่ 7 ในขอบเขตธุรกิจที่คุณกำลังสนใจนั้น คุณ "มีชื่อเสียง/เป็นที่ยอมรับ" ในเรื่องใดบ้าง :
ในโลกที่การแข่งขันสูงเหมือนในปัจจุบัน ถ้าคุณไม่ได้กำลังนำเสนอโซลูชันที่ยังไม่เคยมีมาก่อนบนโลกใบนี้เลย คุณก็ต้องตอบคำถามข้อนี้ให้ได้ว่า "ทำไมต้องเป็นคุณ ทำไมลูกค้าต้องเลือกซื้อสินค้าหรือบริการของคุณมากกว่าคู่แข่ง"
คนส่วนใหญ่มักตอบคำถามนี้ว่า "สินค้าของเรามีคุณภาพดีกว่า" หรือ "เรามีบริการที่ดีกว่า" หรือ "ของเราถูกกว่า" แต่ทั้งหมดนั้นส่วนใหญ่แล้ว ก็เป็นแค่ "สิ่งที่เราคิดไปเองเท่านั้น" และเป็น "สิ่งที่ใครๆ ก็พูดได้ และทุกคนก็พูดเหมือนๆ กัน"
ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือบริการที่มีอยู่แล้ว หรือจะเป็นนวัตกรรมแปลกใหม่ สิ่งหนึ่งที่สำคัญในการที่ลูกค้าจะตัดสินใจเลือกเราก็คือ "เขาเชื่อถือเราหรือไม่" ถ้าไม่เชื่อก็ลองดูตัวอย่างวัคซีนโควิดที่มีการถกเถียงกันอย่างมากมายดู ถ้ามีวัคซีน 3 ประเทศมาวางไว้ให้คุณเลือก ระหว่างวัคซีนของอเมริกา ของจีน และของรัสเซีย ราคาเท่ากัน ฉีดได้ทันทีเหมือนกัน ไม่มีเวลาให้คุณไปหาข้อมูลเพิ่มเติมอีกแล้วต้องตัดสินใจทันที คุณจะเลือกฉีดวัคซีนของประเทศไหน คำตอบของคำถามนี้ก็คือ คุณเชื่อใจประเทศไหนมากกว่ากันนั่นเอง
การที่คุณสามารถบอกให้ลูกค้าหรือนักลงทุนรับรู้ได้ว่า คุณมีชื่อเสียง/เป็นที่ยอมรับในด้านใดบ้าง จะเป็นตัวช่วยยกระดับความเชื่อถือในบริษัทของคุณ ยิ่งถ้าหากเขาเชื่อใจคุณอยู่แล้วเพราะยอมรับในตัวคุณมาก่อน ก็เท่ากับว่าธุรกิจของคุณเริ่มเดินได้ก่อนคนอื่นๆ ไปหลายก้าวเลย
พอเข้าใจแล้วใช่มั้ยครับว่า ทำไมแบรนด์เครื่องสำอางหรืออาหารเสริมที่บอกว่าดาราคนนั้นคนนี้เป็นเจ้าของ ถึงขายได้ง่ายขายได้ดีกว่าแบรนด์อื่นๆ ทั่วไปที่คนธรรมดาคิดขึ้นมา (บางครั้งยังขายได้ดีกว่าแบรนด์ที่มีนักวิชาการมานำเสนอผลงานวิจัยได้อย่างชัดเจน มีหลักฐานพิสูจน์ได้ด้วยซ้ำ)
ข้อ 8 คุณสามารถหา “เงินลงทุน” ที่เพียงพอในการเริ่มต้นธุรกิจได้จากแหล่งใดบ้าง :
และนี่คือปัญหาใหญ่ที่สุดของคนที่อยากเริ่มต้นทำธุรกิจทั่วทั้งโลก คือ ไม่รู้จะเอาเงินจากไหนมาใช้ในการเริ่มต้นทำธุรกิจ เพราะทุกการเริ่มต้นย่อมต้องการการลงทุน
สำหรับคนที่มีแหล่งเงินทุนอยู่แล้ว หรือรู้ว่าจะหาแหล่งเงินทุนได้จากไหน ข้อนี้คงสามารถเขียนตอบกันไดอย่างสบายมาก เช่น ใช้เงินเก็บของตัวเอง ขอยืมคนที่บ้านมาลงทุน หุ้นกับเพื่อนสนิท ขอกู้เงินจากธนาคาร หรือจะไปเข้าแข่งพิชชิ่งเพื่อให้ได้เงินสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ก็เป็นไปได้
แต่สำหรับคนที่คิดว่าไม่สามารถหาเงินทุนจากแหล่งที่กล่าวมาข้างต้นได้ เงินเก็บก็ไม่มี ที่บ้านก็ไม่มีให้ เพื่อนสนิทก็ไม่มีเหมือนกัน หลักทรัพย์ค้ำประกันกับธนาคารก็ไม่มี ไอเดียก็ยังไม่สตรองพอจะไปพิชชิ่งแข่งกับใครเขาได้ คุณก็ยังมีทางเลือกเหลืออยู่อย่างน้อยอีก 2 ทาง
ทำงานประจำหรือเป็นฟรีแลนซ์เพื่อเก็บเงินไปก่อน วิธีนี้ต้องมีการบริหารจัดการการเงินที่ดี แยกเงินออมเพื่อการทำธุรกิจเอาไว้ให้ชัดเจนตั้งแต่ที่ได้รับเงินเดือนมาโดยสัญญาอย่างหนักแน่นว่าจะไม่แตะเงินก้อนนี้โดยเด็ดขาด
เลือกทำเฉพาะธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนน้อยที่สุด และได้เงินกลับคืนมาเร็วที่สุด หลายครั้งที่คุณต้องลืม 7 ข้อข้างหน้าไปก่อน แล้วยอมทำธุรกิจอื่นไปพลางๆ ก่อน ซึ่งถ้าคุณทำได้ดี คุณก็จะมีกระแสเงินสดเข้ามาจนถึงระดับที่น่าพึงพอใจ แล้วถ้าวันนั้นความฝันของคุณที่เขียนไว้ใน 7 ข้อแรกยังไม่เลือนหายไป ก็ได้เวลาเอาเงินจากธุรกิจแรกมาต่อยอดเป็นธุรกิจในฝันของคุณแล้ว
ข้อ 9 คุณ “รู้จักใคร” ที่สามารถช่วยเหลือคุณ และยินดีที่จะช่วยเหลือคุณ ในข้อที่คุณยังติดขัดก่อนหน้านี้บ้าง :
ไม่ว่าคุณจะเจอปัญหาอะไรตั้งแต่ข้อ 1-8 ขาดความรู้ ขาดความเชี่ยวชาญ ไม่รู้ตื้นลึกหนาบางของธุรกิจนั้น ขาดความน่าเชื่อถือไม่เป็นที่ยอมรับ หรือขาดแคลนเงินทุน คุณอาจแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ด้วยข้อนี้ "คุณรู้จักใครที่สามารถช่วยเหลือคุณและยินดีที่จะช่วยเหลือคุณในเรื่องนั้นๆ บ้างหรือเปล่า"
คำว่า Connection ในวงการธุรกิจ ไม่ได้หมายความแค่ คุณรู้จักใครบ้าง แบบว่าเคยเจอเขาในงานมีทอัพครั้งหนึ่ง เคยยืนพูดคุยกันในงานสัมมนา เลยได้นามบัตรเขามาเท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญกว่าก็คือ เขาต้องยินดีที่จะช่วยคุณด้วย ไม่ว่าจะช่วยด้วยหวังผลประโยชน์ตอบแทนบางอย่างหรือช่วยแบบไม่หวังอะไรตอบแทน
โดยสรุป ข้อ 7-9 ไม่ได้เป็นตัวชี้เป็นชี้ตายว่า คุณจะเริ่มทำธุรกิจที่คุณกำลังสนใจได้มั้ย ถ้าคุณตอบคำถามสามข้อสุดท้ายได้อย่างดี คุณก็มีโอกาสที่จะเริ่มต้นได้ดีกว่าคนอื่นๆ นั่นเอง แต่ถ้าคุณขาดข้อใดข้อหนึ่งไปหรือขาดทั้งสามข้อ คุณก็แค่ต้องมองหาวิธีอื่นๆ เสริมเพื่อให้คุณได้สิ่งเหล่านั้นมา (เท่าที่จำเป็น)
คำถามสุดท้าย คือ จำเป็นหรือไม่ที่คุณต้องตอบทุกข้อได้ครบถ้วนอย่างดี ถึงจะสามารถเริ่มต้นทำธุรกิจนั้นได้ ถ้ามีบางข้อที่คุณตอบไม่ได้หรือไม่มีล่ะ จะยังเลือกทำธุรกิจนั้นได้อยู่หรือเปล่า
คำตอบคือ ได้แน่นอนครับ
แคนวาสและคำถามทั้ง 9 ข้อนี้ เป็นแค่เครื่องมือที่ช่วยคุณในการเรียบเรียงความคิด บางคำถามถ้าคุณตอบได้ตั้งแต่วันแรกเลยก็ดี แต่จะลองเริ่มต้นลงมือทำไปก่อนแล้วค่อยมองหาคำตอบเพิ่มเติมก็ได้ เช่น ถ้าวันนี้คุณยังไม่มีคอนเนคชันที่จะช่วยคุณได้ คุณก็สามารถหาโอกาสพาตัวเข้าไปพบเจอทำความรู้จักกับคนเหล่านั้นในภายหลัง หรือแม้กระทั่งวันนี้คุณอาจยังไม่รู้ว่ากลุ่มคนที่คุณสนใจเขากำลังเผชิญกับปัญหาที่น่าเจ็บปวดอะไรอยู่ แต่พอคุณเริ่มลงไปคลุกคลีกับเขา คุณก็อาจจะได้เจอโอกาสใหม่ๆ ที่น่าสนใจยิ่งกว่าเดิมก็เป็นได้
จงให้เครื่องมือนี้เป็นตัวช่วยคุณ อย่าให้เครื่องมือนี้เป็นตัวเหนี่ยวรั้งคุณ !!!
Commentaires