top of page
รูปภาพนักเขียนฐิติกร พูลภัทรชีวิน

กระบวนการนวัตกรรม #2 : กระบวนการรวบรวมความคิดสร้างสรรค์ (Create Concepts)

อัปเดตเมื่อ 9 ต.ค.

หลังจากที่เราได้โจทย์หรือหัวข้อนวัตกรรมกันจากกระบวนการที่ผ่านมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมเพื่อลูกค้า นวัตกรรมเพื่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นวัตกรรมกระบวนการ หรือนวัตกรรมเพื่อให้ก้าวทันต่อเทรนด์อนาคตก็ตาม ขั้นตอนต่อไปก็คือ การรวบรวมความคิดสร้างสรรค์เพื่อมาสร้างเป็นแนวไอเดียนวัตกรรม



สำหรับบางคนเมื่อได้ทำความเข้าใจกับลูกค้า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ในกระบวนการต่างๆ แล้ว ก็อาจจะได้ไอเดียนวัตกรรมดีๆ ที่คาดว่าจะนำมาพัฒนาต่อยอดได้เลย ก็สามารถเริ่มต้นเตรียมตัวทำข้อเสนอไอเดียนวัตกรรมเพื่อนำเสนอไอเดียให้กับผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจต่อไป ในจุดนี้ถ้าองค์กรมีการเตรียมกลไกเพื่อเปิดรับไอเดียจากบุคลากรไว้อย่างเป็นระบบ เช่น มีเวทีประกวดไอเดียนวัตกรรมประจำปี มีเวทีพิชชิ่งไอเดียทุกเดือนหรือทุกไตรมาสก็จะดีมาก เพราะบ่อยครั้งเลยที่ไอเดียนวัตกรรมดีๆ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพราะถูกบล็อคโดยผู้บังคับบัญชาในระดับถัดๆ ไปของเจ้าของไอเดีย กลไกเปิดรับไอเดียเหล่านี้จะช่วยให้องค์กรไม่สูญเสียไอเดียนวัตกรรมดีๆ ไป และยังช่วยเพิ่มขวัญกำลังใจให้บุคลากร ทำให้บุคลากรทุกระดับกล้าคิดสร้างสรรค์มากขึ้น เพราะรู้ว่าเมื่อคิดแล้วจะมีเวทีให้ได้แสดงออกและกลายเป็นโอกาสในการเติบโตก้าวหน้าในหน้าที่การงานต่อไป


กระบวนการรวบรวมความคิดสร้างสรรค์จากแหล่งภายในองค์กร


สำหรับคนที่เมื่อทำความเข้าใจกับกลุ่มเป้าหมายดีแล้ว รู้ปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของกลุ่มเป้าหมาย แต่ก็อาจจะยังคิดไม่ออกว่าจะหาทางตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มเป้าหมายอย่างไร คำถามถัดไปคือ เรื่องที่เรากำลังต้องการมองหาไอเดียอยู่นั้นเป็นเรื่องภายในองค์กร ซึ่งมีผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญอยู่ภายในอยู่แล้วหรือไม่ และเคยมีคนนำเสนอไอเดียเกี่ยวกับเรื่องนี้มาบ้างแล้วหรือไม่ ถ้าหากว่าคำตอบคือไม่ เราก็ต้องเริ่มออกไปมองหาไอเดียความคิดสร้างสรรค์จากภายนอกเข้ามาเพิ่มเติม (ข้ามไปกระบวนการรวบรวมความคิดสร้างสรรค์จากแหล่งภายนอกองค์กร) แต่หากคำตอบคือใช่ สิ่งต่อไปที่เราควรทำก็คือ ลองเข้าไปหาไอเดียและความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ จากระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการความรู้ขององค์กรดูก่อน บ่อยครั้งเลยที่ความรู้และเทคนิคดีๆ ไปแอบซ่อนตัวอยู่ในซอกหลืบของระบบจนเรายากจะหาเจอถ้าไม่ตั้งใจจริง


เมื่อได้ความรู้และเทคนิคดีๆ ที่จำเป็นกับการสร้างสรรค์ไอเดียนวัตกรรมของเราแล้ว คำถามต่อมาคือ เราคิดว่าโครงร่างไอเดียประมาณนั้น เราสามารถคิดต่อยอดไอเดียได้ด้วยตัวเราเองคนเดียวหรือไม่ ถ้าคิดว่าทำเองได้ ก็ลงมือทำจนไอเดียนวัตกรรมเป็นรูปเป็นร่าง ก่อนส่งเข้าไปสู่กลไกเปิดรับไอเดียที่องค์กรเตรียมไว้ให้ แต่หากคิดว่าเราเองคนเดียวทำไม่ไหว ก็ไม่จำเป็นต้องท้อแท้ใจไป เราสามารถมองหาเพื่อนร่วมทีมจากภายในองค์กร เชิญชวนคนที่สนใจปัญหาเดียวกันกับเรา และมีความรู้ความสามารถที่เติมเต็มส่วนที่เราขาดไปเข้ามาร่วมเป็นทีมโครงการ ก่อนจะร่วมกันระดมสมองเพื่อทำให้ไอเดียนวัตกรรมนั้นเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา แล้วค่อยส่งเข้าไปสู่กลไกเปิดรับไอเดียที่องค์กรเตรียมไว้ให้ต่อไป


กระบวนการรวบรวมความคิดสร้างสรรค์จากแหล่งภายนอกองค์กร


ในกรณีที่เรากำลังมองหาไอเดียนวัตกรรมเพื่อลูกค้า นวัตกรรมเพื่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือนวัตกรรมกระบวนการ แต่ปรากฎว่าคุณไม่สามารถหาไอเดียได้จากแหล่งความรู้ความคิดสร้างสรรค์ภายในองค์กร จำเป็นที่จะต้องมองหาจากภายนอก คำถามแรกก็คือ ไอเดียที่กำลังสนใจอยู่นั้นเกี่ยวข้องกับงานหรือภารกิจโดยตรงขององค์กรหรือไม่ หรือว่ามันเป็นนวัตกรรมเพื่อสังคม


ในกรณีที่เป็นนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานหรือภารกิจโดยตรงขององค์กร เราจะต้องเริ่มจากการพิจารณาว่า งานหรือภารกิจนั้นเราสามารถเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกเข้ามาศึกษาเรียนรู้เพื่อนำเสนอไอเดียได้หรือไม่ ถ้าหากว่าได้ กิจกรรมหนึ่งที่สามารถทำได้เลยก็คือ การจัดประกวดไอเดียนวัตกรรมจากบุคลากรภายนอก เหตุผลที่ต้องตอบคำถามนี้ก่อนก็เพราะว่า ในการที่บุคคลภายนอกจะสามารถนำเสนอไอเดียเพื่อแก้ไขปัญหาหรือพัฒนากระบวนการทำงานให้กับเราได้นั้น บุคคลภายนอกนั้นจะต้องเข้ามาเรียนรู้กระบวนการทำงานที่เราทำอยู่ เข้ามาพูดคุยสัมภาษณ์คนที่ทำงาน และสังเกตการทำงานจริง เพื่อให้เขาได้รับรู้และเข้าใจถึงปัญหาและความเจ็บปวดของผู้ที่อยู่ในปัญหาจนสามารถนำไปคิดไอเดียนวัตกรรมให้กับเราได้นั่นเอง ซึ่งหากว่าองค์กรของเราไม่สะดวกให้บุคคลภายนอกเข้ามาร่วมเสนอไอเดียได้ สิ่งที่เราพอจะทำได้ในลำดับต่อไปก็คือ การค้นหาข้อมูลหรือไอเดียจากแหล่งภายนอกที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ แล้วก็เชิญผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือมาเป็นที่ปรึกษาให้กับเราได้


ในกรณีที่เป็นนวัตกรรมเพื่อสังคม ก็จะมีคำถามที่น่าสนใจต้องถามก่อนว่า นวัตกรรมที่เรากำลังอย่างพัฒนาขึ้นมานั้นเป็นนวัตกรรมที่องค์กรควรทำด้วยตัวเองหรือไม่ เพราะถ้าคำตอบคือไม่ แต่เราอยากให้นวัตกรรมนั้นเกิดขึ้น วิธีที่ง่ายและสะดวกกว่าก็คือ การให้ทุนกับหน่วยงานภายนอกที่มีความประสงค์อยากพัฒนานวัตกรรมนั้นอยู่แล้ว ถ้าคำตอบคือใช่ นวัตกรรมนั้นองค์กรของเราต้องทำเอง คำถามต่อไปก็คือ แล้วเราจำเป็นต้องทำด้วยตัวคนเดียวหรือไม่ หรือจริงๆ แล้วเราสามารถมองหาพันธมิตรมาร่วมทำโครงการนั้นไปด้วยกัน ในโลกแห่งนวัตกรรม กรอบความคิดที่สำคัญคือ Collaboration Mindset ซึ่งหมายความว่าเราไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของนวัตกรรมทั้งหมด เราสามารถร่วมมือกับคนอื่นในรูปแบบของการเป็นพันธมิตร ต่างฝ่ายต่างนำจุดแข็งของตัวเองออกมาเพื่อเติมเต็มจุดอ่อนของทีม ร่วมแรงร่วมใจกันทำให้โครงการนวัตกรรมนั้นสำเร็จ แล้วพันธมิตรทุกฝ่ายก็จะได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน


ขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการรวบรวมความคิดสร้างสรรค์


ไม่ว่าเราจะทำรวบรวมความคิดสร้างสรรค์จากแหล่งภายในหรือภายนอกองค์กรก็ตาม ขั้นตอนสุดท้ายที่สำคัญที่สุดคือ เราต้องไม่ปล่อยให้ไอเดีย ความรู้ หรือความคิดสร้างสรรค์ที่รวบรวมมาได้ต้องสูญหายไปเปล่า องค์กรควรมีการจัดทำระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการนวัตกรรม เพื่อใช้ในการบันทึกไอเดีย ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ เหล่านั้นเอาไว้ เพื่อเป็นแหล่งไอเดียให้กับบุคลากรอื่นๆ ที่อาจต้องการมองหาไอเดียนวัตกรรมไปประยุกต์ใช้กับประเด็นที่ตัวเองกำลังสนใจในอนาคตได้

ดู 348 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments

Rated 0 out of 5 stars.
No ratings yet

Add a rating
bottom of page