ไม่ใช่ทุกไอเดียที่เราควรนำมาพัฒนาเป็นนวัตกรรม ในความเป็นจริงมีไอเดียสร้างสรรค์มากมายที่ไม่แข็งแกร่งพอที่จะไปต่อ และองค์กรก็ไม่ควรปล่อยให้ไปต่อด้วย เพราะว่ามันจะสิ้นเปลืองทั้งงบประมาณ เวลา ทรัพยากรอื่นๆ และยังทำให้ไอเดียที่ดีกว่าต้องสูญเสียโอกาสไปด้วย แต่เราจะรู้ได้อย่างไรล่ะว่า ไอเดียไหนเป็นไอเดียที่ควรให้ไปต่อ และไอเดียไหนควรกลับไปคิดมาใหม่ให้ดีขึ้นกว่าเดิม
คนที่จะตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุดและเป็นคนกลุ่มแรกที่ได้สิทธิ์ในการตัดสิน ก็คือ กลุ่มเป้าหมายที่กำหนดไว้ ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ในกระบวนการนั้นๆ ในเมื่อโจทย์ตั้งต้นของไอเดียนวัตกรรมเริ่มต้นจากการต้องการแก้ไขปัญหาที่แสนเจ็บปวดของพวกเขา หรืออาจจะอยากปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่างเพื่อให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้นการถามพวกเขาว่าสิ่งที่เราคิดขึ้นมานั้น มันใช่สิ่งที่เขาต้องการหรือไม่ มันจะทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นอย่างที่เราคิดได้จริงหรือไม่ ไม่ว่าไอเดียของเราจะเป็นอะไร เราต้องนำไอเดียไปทดสอบกับกลุ่มเป้าหมายก่อน อาจจะเลือกใช้วิธีการสัมภาษณ์รายบุคคล ทำ Focus Group หรืออาจจะทดลองขายจริงๆ (แบบพรีออเดอร์) เลยก็ได้ ถ้ากลุ่มเป้าหมายตอบว่าใช่ นี่คือสิ่งที่เขาต้องการ เขาเฝ้ารอคอยไอเดียแบบนี้มานานแล้ว และพร้อมจะสนับสนุนให้ไอเดียนี้เกิดขึ้นจริง ก็เท่ากับว่าไอเดียของเราผ่านด่านแรกไปได้อย่างสวยงาม แต่ถ้ากลุ่มเป้าหมายตอบว่าไม่ใช่ นี่ไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ สิ่งที่เราต้องทำต่อก็ไม่ได้แปลว่าเราต้องทิ้งไอเดียนั้นไปเลย เราสามารถสอบถามความคิดเห็นของกลุ่มเป้าหมายเพิ่มเติมเพื่อนำมาใช้ดัดแปลงปรับเปลี่ยนไอเดียของเราให้แข็งแกร่งขึ้น ถูกต้องโดนใจกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น
หลังจากที่ไอเดียนวัตกรรมของเรา ผ่านด่านของกลุ่มเป้าหมายมาได้ ก็ถึงเวลาที่เราจะต้องนำไอเดียของเราไปนำเสนอต่อผู้บริหารระดับสูงขององค์กรตามกลไกที่องค์กรกำหนดไว้ให้ และนี่ก็เป็นจุดหนึ่งที่ไอเดียนวัตกรรมมากมายต้องล้มหายตายจากไป ไม่ใช่เพราะว่าไอเดียนั้นไม่ดี แต่เป็นเพราะเจ้าของไอเดียไม่สามารถนำเสนอความดีงามหรือโอกาสที่ยิ่งใหญ่ของไอเดียนั้นออกไปให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจได้มองเห็นเหมือนกับตัวเองได้ มันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้คนเห็นภาพที่อยู่ในสมองในความคิดของเราเหมือนกับที่เราเห็น นอกเสียจากว่าเราจะเป็นคนนำภาพนั้นออกมาให้เขาเห็นเอง ดังนั้นทักษะที่สำคัญมากในขั้นตอนนี้ก็คือ ทักษะการนำเสนอ ทั้งทักษะการเล่าเรื่องและทักษะการพิชชิ่ง การทำความเข้าใจกับกรอบความคิดและความต้องการของผู้มีอำนาจตัดสินใจก็สำคัญมากเช่นกัน เราเรียกขั้นตอนนี้ว่า การนำเสนอความคุ้มค่าของไอเดีย ซึ่งมีเครื่องมือให้เราเลือกใช้ได้อยู่มากมาย การจะเลือกใช้เครื่องมือไหนมาช่วยเราในการนำเสนอนั้น อาจใช้เกณฑ์ง่ายๆ นี้ได้
สำหรับนวัตกรรมสินค้าและบริการ ที่ไม่ใช่สินค้าและบริการเชิงเทคโนโลยี อาจเลือกใช้ Business Model Canvas เป็นหลัก
สำหรับนวัตกรรมสินค้าและบริการ ที่เป็นสินค้าและบริการเชิงเทคโนโลยี อาจเลือกใช้ Lean Canvas แทน
สำหรับนวัตกรรมกระบวนการและนวัตกรรมเชิงสังคม สามารถเลือกใช้ 3Pro Idea Creation Canvas เป็นเครื่องมือในการนำเสนอได้
ขั้นตอนต่อไป เป็นขั้นตอนสำหรับผู้มีอำนาจตัดสินใจที่จะต้องทำหน้าที่ตัดสินใจว่า ไอเดียไหนบ้างที่จะได้ไปต่อ ไอเดียไหนบ้างที่ต้องกลับไปขัดเกลาให้แข็งแกร่งขึ้นก่อน และยังต้องตัดสินใจด้วยว่า ไอเดียไหนควรเริ่มทำทันที ไอเดียไหนควรทำก่อนเป็นไอเดียแรกๆ และไอเดียไหนรอไปก่อนได้ หรืออาจพับเก็บไว้ก่อนเพื่อรอเวลาที่เหมาะสมกว่านี้
เกณฑ์ที่จะใช้ในการตัดสินว่าไอเดียไหนบ้างที่จะได้ไปต่อ คือ 3 Lenses of Innovation ซึ่งประกอบไปด้วยคุณสมบัติที่สำคัญ 3 ประการที่จะทำให้นวัตกรรมนั้นสำเร็จ ได้แก่
Desirability สิ่งที่เรากำลังคิดอยู่นั้น กลุ่มเป้าหมายอยากได้มันจริงๆ หรือไม่ มั่นใจหรือไม่ว่าความต้องการที่เรามองเห็นนั้น เราไม่ได้คิดไปเองว่ามันดี
Feasibility สิ่งที่เรากำลังคิดอยู่นั้น ในทางเทคนิค มันสามารถถูกสร้างขึ้นมาได้จริงๆ หรือไม่ เทคโนโลยีที่เรามีอยู่และความสามารถของทีม เพียงพอทำมันขึ้นมาหรือไม่
Viability สิ่งที่เรากำลังคิดอยู่นั้น จะอยู่รอดได้ในทางธุรกิจหรือไม่ มันมีความคุ้มค่าเพียงพอที่จะทำให้ลงมือทำหรือไม่
ถ้ามีคนต้องการไอเดียของเรา และทำแล้วคุ้มค่า แต่ทำไม่ได้จริง เราเรียกว่า “ขายฝัน” ถ้ามีคนต้องการไอเดียของเรา และทำได้จริง แต่ไม่คุ้มค่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ “ไม่ได้ขาย” หรืออาจเรียกอีกแบบว่า “ทำการกุศล” ถ้าไอเดียของเราทำได้จริง และคุ้มค่าทางธุรกิจแน่นอน แต่ไม่มีคนต้องการมัน สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ “ขายไม่ออก” นวัตกรรมที่เกิดขึ้นมาได้จริง คือ ส่วนผสมของไอเดียที่กลุ่มเป้าหมายมีความต้องการอยู่จริง มีความเป็นไปได้ทางเทคนิคที่จะทำให้มันเกิดขึ้นมาได้ และมีความคุ้มค่าที่จะลงทุนทำมันให้เกิดขึ้นมา ไอเดียนวัตกรรมที่จะได้ไปต่อจึงต้องผ่านคุณสมบัติทั้งสามข้อนี้
สำหรับไอเดียที่ไม่ได้ไปต่อ คำถามสำคัญ ณ จุดนี้คือ ทุกคนต้องช่วยกันตอบว่าไอเดียนั้นเป็นไอเดียที่มีศักยภาพจะไปพัฒนาต่อหรือไม่ ถ้าใช่ก็อาจให้คำแนะนำกับเจ้าของไอเดียแล้วให้กลับไปแก้ไขมาใหม่ หรืออาจเก็บไอเดียไว้ในระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการนวัตกรรมก่อนเพื่อรอโอกาสที่เหมาะสมสำหรับไอเดียนั้น
ส่วนไอเดียที่ผ่านเกณฑ์ทั้งสามมานั้น ในกรณีที่มีไอเดียเป็นจำนวนมาก ก็จะต้องนำมาจัดลำดับความสำคัญของไอเดียเสียก่อน ว่าไอเดียไหนควรทำเลยทันที ไอเดียไหนควรค่อยๆ ทำอย่างเป็นระบบ ไอเดียไหนควรทำก่อนไอเดียไหน โดยเครื่องมือที่จะช่วยในการจัดลำดับความสำคัญตรงนี้ได้ก็คือ Pay-Off Matrix
Pay Off Matrix เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้ในการตัดสินใจ ในกรณีที่มีสิ่งที่น่าสนใจให้ทำ และสิ่งเหล่านั้นต่างก็มีลำดับความสำคัญใกล้เคียงกัน โดย Pay Off Matrix จะพิจารณาจากระดับ “ความยาก” ของงาน (ง่าย/ยาก) และดูว่างานนั้นได้รับ “ผลตอบแทน” ระดับไหน (มาก/น้อย) แน่นอนว่าไอเดียประเภทที่เราควรหยิบมาทำทันที ก็คือ กลุ่มที่เรียกว่า Bonus-Opportunity หรือ ไอเดียที่ทำให้สำเร็จได้ง่าย และเมื่อสำเร็จแล้วก็จะได้รับผลตอบแทนมาก
ไอเดียที่ควรนำมาทำในลำดับต่อไป ก็คือ กลุ่ม Quick-Win หรือ ไอเดียที่ทำให้สำเร็จได้ง่าย แต่อาจให้ผลตอบแทนไม่มากนัก จริงอยู่ที่ไอเดียประเภทนี้อาจดูไม่จูงใจให้ตัดสินใจลงมือทำนัก แต่จริงๆ แล้ว ผลลัพธ์ที่เราเล็งถึง จะไม่ใช่ผลตอบแทนโดยตรงที่ได้รับจากโครงการประเภทนี้ สิ่งที่เราอยากได้จริงๆ คือ ความรู้สึกของพนักงานที่ได้ทำโครงการแล้วประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะในช่วงแรกของการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ความรู้สึกว่าได้ทำสำเร็จนี้จะช่วยเพิ่มขวัญกำลังใจให้กับทั้งตัวผู้ทำโครงการ และพนักงานคนอื่นๆ ในองค์กรด้วย
ไอเดียที่เราจะนำมาทำต่อเป็นลำดับต่อไป คือ กลุ่ม Special Effort กลุ่มนี้ทำได้ยาก แต่ถ้าทำสำเร็จก็จะได้ผลตอบแทนสูงมาก เรียกว่าถึงยากก็คุ้มที่จะลงมือทำ แต่อาจต้องทำเป็นโครงการใหญ่ เป็นโครงการระยะยาว เพราะต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมาก ทั้งคน เครื่องมือ งบประมาณ และระยะเวลา ปัญหาสุดคลาสสิคในการทำโครงการประเภท Special Effort ก็คือ ด้วยความที่เป็นโครงการที่ทำได้ยาก ก็มักต้องการทรัพยากรมาก เมื่อใช้ทรัพยากรมาก ก็มักถูกคาดหวังจากผู้บริหารว่าผลตอบแทนต้องมากตาม และแถมพ่วงด้วยความใจร้อน อยากเห็นความคืบหน้าเร็วๆ ทำให้คนที่ทำโครงการประเภทนี้มักต้องทำงานภายใต้แรงกดดันสูง และอาจท้อถอยหมดไฟได้ง่ายๆ วิธีที่เรามักแนะนำกันก็คือ ให้แบ่งงานที่ว่ายากๆ ใหญ่ๆ นี้ ออกมาเป็นโครงการย่อยๆ แล้วหาบางส่วนมาเป็น quick-win ก่อน เพื่อให้ผู้บริหารได้เห็นความคืบหน้า ช่วยลดแรงกดดันให้คนทำงานได้
ไอเดียที่เราจะทำเป็นกลุ่มสุดท้าย หรือถ้าพูดให้ถูกคือ เราไม่ควรจะทำมันเลย ก็คือ กลุ่ม Time Waste ไอเดียประเภทนี้ ทั้งทำได้ยาก แถมผลตอบแทนก็น้อย มันจึงไม่มีอะไรดึงดูดใจให้เราน่าจะทำมัน นอกจากว่ามีความจำเป็นอะไรบางอย่างทำให้เรายังต้องทำมันอยู่
Kommentare