top of page
รูปภาพนักเขียนฐิติกร พูลภัทรชีวิน

กระบวนการนวัตกรรม #4: นำความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์ไปสู่การสร้างนวัตกรรม (Develop Solutions)

อัปเดตเมื่อ 9 ต.ค.

หลังจากที่ได้ไอเดียนวัตกรรมที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาและยังอยู่ในกลุ่มที่ถูกจัดลำดับความสำคัญให้ทำทันทีมาแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะลงมือทำโครงการพัฒนานวัตกรรมนั้นขึ้นมาเลย สิ่งที่เราพิจารณากันมาก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่แล้วเป็นเพียงแนวคิดและภาพเชิงอุดมคติเท่านั้น ยังไม่มีอะไรที่จะการันตีได้ว่าไอเดียนั้นจะดีจริงหรือทำได้จริง ดังนั้นกระบวนการต่อไปที่จะช่วยเปลี่ยนไอเดียนวัตกรรมหรือความคิดสร้างสรรค์ให้กลายมาเป็นนวัตกรรมจริงๆ ก็คือ กระบวนการสร้าง Prototype หรือก็คือต้นแบบของนวัตกรรม (สำหรับนวัตกรรมกระบวนการ ตรงจุดนี้อาจเรียกว่าเป็นโครงการนำร่องก็ได้)




ขั้นตอนแรกในกระบวนการสร้าง Prototype ก็คือ การสร้างทีมพัฒนา Prototype ขึ้นมาก่อน ทีมนี้อาจเป็นทีมเดิมที่ช่วยกันระดมสมองมาตั้งแต่ต้น หรืออาจเปลี่ยนทีมใหม่ก็ได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ต้องมั่นใจว่าคนในทีมมีทักษะความรู้ความสามารถครบถ้วนทุกด้านอย่างเพียงพอ แต่ละคนไม่จำเป็นต้องเก่งทุกเรื่อง บางคนเก่งเรื่องหนึ่งในขณะที่อีกคนอาจเก่งอีกเรื่องหนึ่ง แต่โดยรวมทั้งทีมแล้ว มีทักษะที่จำเป็นอยู่ครบครับ และทุกคนต้องมีใจปรารถนาที่อยากจะเห็นโครงการนี้สำเร็จจริงๆ ด้วย


เมื่อได้ทีมพัฒนา Prototype แล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือ การออกแบบ Prototype ขึ้นมา Prototype นี้ไม่จำเป็นต้องทำได้ทุกอย่างที่เราอยากให้มันทำได้ สิ่งสำคัญที่มันต้องมีคือ ฟังก์ชันหลักที่จะช่วยตอบสนองความต้องการให้กับกลุ่มเป้าหมาย เท่านั้น วิธีการทำงานอาจยังไม่ต้องเหมือนกับวิธีที่จะใช้จริงก็ได้ เราเพียงต้องการให้มีต้นแบบของนวัตกรรมออกมาเพื่อทำการทดสอบกับตลาดอีกครั้งอย่างรวดเร็วที่สุด โดยพยายามควบคุมงบประมาณให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม


หลังจากออกแบบ Prototype เสร็จแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการวางแผนบริหารโครงการพัฒนา Prototype ภายใต้โครงการนี้จะมีกิจกรรมอะไรเกิดขึ้นบ้าง แต่ละกิจกรรมจะเริ่มต้นเมื่อไหร่สิ้นสุดเมื่อไหร่ มีตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายอย่างไร ใครเป็นผู้รับผิดชอบ นี่คือสิ่งที่ต้องกำหนดลงไปให้ชัดเจนเพื่อให้การทำงานร่วมกันในทีมเป็นไปอย่างราบรื่นและอยู่ในทิศทางเดียวกัน


ขั้นตอนที่สำคัญมากอีกขั้นตอนหนึ่งก็คือ การจัดสรรงบประมาณสำหรับโครงการพัฒนา Prototype ในขั้นตอนนี้สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจกันทั้งผู้ทำโครงการและผู้อนุมัติงบประมาณก็คือ ในความเป็นจริงโครงการนวัตกรรมที่สามารถการันตีเป้าหมายและความสำเร็จได้นั้นไม่มีอยู่จริง ในขั้นตอน Prototype นี้ต้องทำใจไว้ก่อนเลยว่า งบประมาณก้อนนี้อาจต้องสูญเปล่าไปโดยที่องค์กรไม่ได้รับผลตอบแทนอะไรกลับมา นั่นเป็นธรรมชาติของกระบวนการนวัตกรรม แต่ก็ไม่ใช่ข้ออ้างของผู้ทำโครงการที่จะเอามาใช้แก้ตัวเวลาที่โครงการล้มเหลวเพราะความผิดพลาดของตัวเอง หรือเพราะขาดความมุ่งมั่นทุ่มเทที่มากเพียงพอ


เมื่อมีแผนบริหารโครงการแล้ว มีทีมทำงาน มีงบประมาณ ก็ถึงเวลาที่ต้องมุ่งมั่นทุ่มเททำงานให้สำเร็จตามแผนที่ได้วางไว้ เมื่อถึงกำหนดเวลาตามแผนงาน เราก็จะต้องกลับมาทบทวนดูว่า เราได้ Prototype อย่างที่เราต้องการหรือไม่ ถ้าไม่ได้ เหตุผลคืออะไร เพราะงบประมาณไม่เพียงพอหรือเปล่า หรือว่าวางแผนผิดพลาดขั้นตอนไม่ครบถ้วน หรือเพราะทีมของเราขาดบุคคลที่มีความรู้ความสามารถบางอย่างไป หรือเพราะเหตุแทรกซ้อนอื่นใดที่เกินความควบคุมของเรา เราจำเป็นต้องรู้เหตุผลที่ทำให้เราไม่ได้ Prototype อย่างที่เราต้องการเพื่อจะได้กลับไปแก้ไขให้ถูกจุด


เมื่อได้ Prototype ออกมาแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือ การนำ Prototype ไปทดสอบกับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อดูว่านี่คือสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายรอคอยอยู่อย่างใจจดจ่อหรือไม่ ถ้าคำตอบคือใช่ ก็ได้เวลาที่ไอเดียนวัตกรรมนี้จะกลายเป็นนวัตกรรมจริงๆ ขององค์กร จากโครงการพัฒนา Prototype ก็จะต้องนำไปพัฒนาต่อยอดให้กลายเป็นโครงการพัฒนานวัตกรรมอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งก็จะต้องเข้ากระบวนการบริหารโครงการขององค์กรต่อไป แต่หากว่า Prototype ที่ออกมา ไม่ใช่อย่างที่กลุ่มเป้าหมายต้องการแล้วล่ะก็ เราต้องอย่าพึ่งรู้สึกว่ามันคือความพ่ายแพ้หรือล้มเหลว เพราะเราพึ่งจะได้รับสิ่งที่มีคุณค่าที่สุด คือ ความรู้ รู้ว่าอะไรไม่ควรทำ รู้ว่าอะไรไม่ใช่ สิ่งที่เราต้องทำต่อเลยก็คือ การสัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมายเกี่ยวกับไอเดียและ Prototype ซึ่งถ้าเราเปิดใจรับฟังเสียงของกลุ่มเป้าหมายมากพอ เราจะได้ข้อมูลเชิงลึกจากเขาเพิ่มมากขึ้นอีก เพราะเขาเห็นหัวใจของเราที่ทุ่มเททำเพื่อเขา เขาจึงยินดีเปิดใจเพื่อให้เราเข้าใจเขามากขึ้นกว่าเดิม บางครั้งกลุ่มเป้าหมายอาจชอบไอเดียตั้งต้นของเรา แต่เราพลาดแค่การออกแบบ Prototype เท่านั้น แบบนี้เราก็แค่ย้อนกลับไปทำ Prototype มาทดสอบใหม่ แต่บางครั้งเราอาจจะตีความหมายของกลุ่มเป้าหมายผิดพลาดไปตั้งแต่ต้น เขาไม่ได้ชอบไอเดียของเรา ถ้าเป็นแบบนี้สิ่งที่เราต้องทำก็คือ ย้อนกลับไปหาไอเดียนวัตกรรมใหม่ๆ แล้วเข้าสู่กระบวนการพัฒนานวัตกรรมเหมือนที่เคยทำมาก่อนหน้านี้แล้วนั่นเอง

ดู 332 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments

Rated 0 out of 5 stars.
No ratings yet

Add a rating
bottom of page