ก่อนอื่นเลย เชื่อว่าทุกคนคงมีคำถามว่าวิธีคิดแบบ Proactive คืออะไร แล้วทำไมมันถึงสำคัญจนต้องเอามาเล่าสู่กันฟังในบล็อกนี้
เหตุผลง่ายๆ ก็เพราะ จากงานวิจัยจำนวนมากที่พบว่า คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตส่วนใหญ่เป็นคนแบบ Proactive นอกจากนี้ปัจจุบันยังพบอีกว่า องค์กรชั้นนำทั้งในและต่างประเทศต่างก็ต้องการพนักงานแบบ Proactive กันทั้งนั้น
แล้วคำว่า Proactive มาจากไหน ? จริงๆ แล้วคำนี้ถูกใช้กันมานานขนาดไหนแล้วผู้เขียนเองก็ไม่ทราบ แต่ที่แน่ใจคือ คำนี้เริ่มมาโด่งดังและเป็นที่รู้จักของคนจำนวนมากจากหนังสือ Best Seller ระดับโลกที่ชื่อว่า "The 7 Habits of Highly Effective People" ของ Stephen R. Covey ซึ่ง "Be Proactive" เป็นลักษณะนิสัยแรกที่ถูกพูดถึง หรืออาจบอกได้ว่า เป็นจุดเริ่มต้นของลักษณะนิสัยที่เหลือเลยก็ว่าได้
อย่างไรก็ดี ในบทความนี้จะเป็นการนำแนวคิดของ Stephen R. Covey มาประยุกต์ร่วมกับแนวคิดอื่นๆ หากใครอยากอ่านแบบ Original แนะนำให้หาหนังสือเล่มนี้มาอ่าน นี่เป็นหนึ่งในหนังสือที่คนอยากประสบความสำเร็จต้องมีติดบ้านเอาไว้เลยทีเดียว
ลักษณะของคนแบบ Proactive และ Reactive
คนแบบ Proactive จะเป็นคนที่รับผิดชอบต่อชีวิตของตัวเอง เขาไม่ปล่อยให้อดีตของตัวเอง การกระทำหรือคำพูดของคนรอบข้าง และสถานการณ์แวดล้อมที่เลวร้าย กลายเป็น “ข้ออ้าง” ที่ตัวเองมีชีวิตไม่เป็นไปอย่างที่ตัวเองต้องการ เพราะเขารู้ดีว่า เขามีสิทธิ์เลือกที่จะ “เปลี่ยนแปลงมัน” หรือ “ยอมจำนน"
ในขณะที่คนแบบ Reactive จะตรงข้ามกับ Proactive เขาพร้อมที่จะตำหนิกล่าวโทษอดีต ผู้คน องค์กร สภาพแวดล้อมภายนอก ที่ทำให้ชีวิตของเขาไม่ดี ไม่มีความสุข หรือทำผิดพลาด เขาคิดว่าเขาไม่สามารถทำอะไรให้ดีไปกว่านี้ได้ เพราะ “เขาไม่มีทางเลือก”
วิธีสังเกตุว่าคุณเป็นคนแบบไหน ระหว่างแบบ Proactive หรือแบบ Reactive ให้ดูจาก "คำพูด" และ “การตอบสนอง" ของคุณในสถานการณ์ต่างๆ ลองพิจารณาดูจากรูปด้านล่างนี้แล้วตอบคำถามตัวเองอย่างตรงไปตรงมาว่าคุณมีคำพูดและการตอบสนองแบบไหนมากกว่ากัน
หรือหากคุณต้องการทำแบบทดสอบง่ายๆ ที่จะช่วยให้คุณรู้ตัวเองว่าคุณมีความ Proactive มากน้อยขนาดไหน คุณสามารถลองเข้าไปทำแบบทดสอบฟรีได้ที่เพจ โค้ชความคิด (https://m.me/coachgaius) แล้วเลือกแบบทดสอบ Proactive-Reactive
ความแตกต่างสำคัญที่ทำให้เกิดพฤติกรรมแบบ Proactive หรือ Reactive คือ “เสรีภาพในการเลือก (Freedom to Choose)” ซึ่งเกิดจากการที่มนุษย์มีเอกลักษณ์ (หรือของประทานจากสวรรค์) 4 ประการ ได้แก่
การตระหนักรู้ในตน (Self-Awareness) เรามักรู้ตัวเองดีว่าเราเป็นคนแบบไหน ชอบไม่ชอบอะไร กำลังมีความคิดความรู้สึกอย่างไร ฯลฯ นั่นทำให้เรามีอารมณ์ความรู้สึกหรือเหตุผลเกิดขึ้น เมื่อเกิดเหตุการณ์หรือสิ่งเร้าอะไรบางอย่างเข้ามากระทบ จนนำไปสู่การตอบสนองบางอย่างนั่นเอง
จินตนาการ (Imagination) แม้ว่าเรื่องนั้นอาจยังไม่เกิดขึ้นจริง เราอาจจะยังได้ไม่ข้อมูลไม่ครบถ้วน หรือไม่ได้อยู่ในสถานการณ์นั้น แต่เรามีจินตนาการที่ทำให้เราคิดต่อยอดออกไปได้ เช่น เวลาเราอ่านข้อความที่คนส่งมาทางไลน์ เราก็จินตนาการต่อได้เลยว่า คนนั้นกำลังพูดด้วยน้ำเสียงหวานหรือดุ กำลังทำหน้าตายิ้มแย้มหรือโกรธเกรี้ยว ทั้งที่เราไม่ได้เห็นหน้าคนๆ นั้นจริงๆ ก็ตาม
ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี (Conscience) บ่อยครั้งที่การตอบสนองบางอย่างแทบจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ แต่สุดท้ายแล้วเราก็ยับยั้งชั่งใจเอาไว้ได้ เพราะเรารู้ว่าสิ่งที่เรากำลังจะตอบสนองมันไม่ดีไม่ถูกต้อง หรืออาจนำมาซึ่งอันตรายต่อตัวเราและคนอื่นได้ เช่น เราโดนคนปาดหน้าและโมโหจัด ในสมองเราเห็นภาพตัวเองกำลังขับรถไปปาดหน้าคันนั้นคืนแล้ว และกำลังจะลงมือทำแล้ว แต่นึกขึ้นมาได้ว่า มีลูกนั่งมาด้วย ถ้าเราขับไปปาดหน้าเขาแล้วพลาดอาจทำให้ลูกได้รับอันตราย
ความปรารถนาอิสรภาพ (Independent Will) สุดท้ายในใจลึกๆ ของเรา ไม่ชอบที่จะถูกใครหรือสถานการณ์ใดบังคับ เราอยากเลือกตัดสินใจด้วยตัวเองมากกว่า แต่บ่อยครั้งที่เราปล่อยให้ตัวเองรู้สึกว่า "เราไม่มีทางเลือก" หรือ "เราไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ" หรือบางครั้งอาจเป็น "เราจำเป็นต้องทำสิ่งนี้เพราะมันดีกับครอบครัวเรามากกว่า" จนเราต้องยอมทิ้งอิสรภาพของตัวเองไปและยอมทำตามความปรารถนาของคนอื่นแทน
จากภาพจะเห็นว่า เมื่อเรามีพฤติกรรมแบบ Reactive เราจะปล่อยให้สิ่งกระตุ้นเร้า เช่น สถานการณ์ คำพูดของคนอื่น อารมณ์ ความรู้สึก มาควบคุมการตอบสนองของเรา ทำให้เราตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นเร้าแบบทันที ("ก็เราไม่มีทางเลือกอื่นนี่นา") ซึ่งจะแตกต่างกับ เวลาที่เรามีพฤติกรรมแบบ Proactive เราจะหยุดสิ่งกระตุ้นเร้าเอาไว้ ไม่ให้มันสามารถมาควบคุมการตอบสนองของเราได้ ก่อนจะคิดทบทวนหาทางเลือกที่เป็นไปได้ แล้วจึงตัดสินใจตอบสนองด้วยทางเลือกที่ดีที่สุด
ความแตกต่างอีกหนึ่งอย่างสำหรับคนสองแบบนี้ คือ มุมมองที่คนสองแบบให้ความสำคัญ
คนแบบ Reactive จะให้ความสำคัญกับสิ่งที่อยู่นอกเหนือความสามารถของตัวเองที่จะไปทำอะไรได้ จึงทำได้แค่นั่งกังวลอยู่เฉยๆ ไม่นำไปสู่การลงมือทำหรือการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย ในขณะที่คนแบบ Proactive จะให้ความสำคัญกับสิ่งที่อยู่ในขอบเขตที่ตัวเองมีอิทธิพล (จัดการ/ควบคุม) ได้ และเริ่มต้นลงมือทำอะไรบางอย่างทันที จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จากระดับเล็กๆ และค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ จนบางครั้งเขาอาจสามารถเปลี่ยนแปลงโลกทั้งใบได้สำเร็จ
3 ขั้นตอนสู่การเปลี่ยนตัวเองให้เป็นคนแบบ Proactive
จริงๆ แล้วมีคำแนะนำมากมายที่ช่วยให้คุณสามารถเปลี่ยนตัวเองจากคนที่เป็นแบบ Reactive ให้กลายเป็นแบบ Proactive แต่ในบทความนี้ขอเลือกวิธีการของ WikiHow (https://www.wikihow.com/Be-Proactive) มานำเสนอด้วยเหตุผลที่ว่า ค่อนข้างครอบคลุมและครบถ้วนกว่าคำแนะนำจากแหล่งอื่นๆ โดย WikiHow ได้แนะนำให้ทำ 3 ขั้นตอนดังนี้
คาดการณ์ล่วงหน้าและเริ่มต้นลงมือทำ
เริ่มจากคิดว่า มีอะไรบ้างที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต และคาดคะเนถึงผล กระทบที่อาจเกิดขึ้น
จัดลำดับความสำคัญของงาน และอย่าลืมจัดเวลาสำหรับงานที่ดูเหมือน จะไม่เร่งด่วน เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
จัดเวลาสำหรับหยุดพักเพื่อประเมินผลลัพธ์ของสิ่งที่ทำไปเสมอ
เลือกรับผิดชอบ และส่งอิทธิพล
เลิกบ่นต่อว่า แล้วยอมรับว่าตัวเองคือเจ้าของความรับผิดชอบ
โฟกัสที่ “สิ่งที่ทำได้” บางอย่าง และเลิกกังวลกับ “สิ่งที่ทำอะไรไม่ได้” บางอย่าง
ตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้จริงให้กับตัวเอง และทำมันอย่างต่อเนื่อง
เลิกเป็นแค่ผู้สังเกตการณ์ แล้วเริ่มกระโดดเข้าไปมีส่วนร่วมกับเรื่องนั้น
รักษาสัญญา และรักษาความสม่ำเสมอ
รับผิดชอบต่อภาระหน้าที่งานที่ได้รับมอบหมาย (หรืออาสา) อย่างดีที่สุด
อยู่ใกล้ๆ กับคนที่คอยสร้างแรงบันดาลใจให้กับคุณ
ควบคุมการตอบสนอง ให้เป็นแบบ Proactive
โฟกัสที่ทางออกของปัญหา (Solution) มากกว่าตัวปัญหา
ฝึกสื่อสารอย่างสงบ ในยามที่รู้สึกโกรธหรือเครียด
หลีกเลี่ยงการด่วนสรุปในแง่ลบ ทั้งที่ยังมีข้อมูลไม่มากเพียงพอที่จะสรุป
ฝึกคิดในมุมมองของคนอื่น เพื่อให้เข้าใจคนอื่นถูกต้องครบถ้วนมากขึ้น
หางานง่ายๆ ที่ไม่ต้องใช้สมองทำ ในเวลาที่คุณรู้สึกกังวลหรือกดดันมากเกินไป
ถ้าทำอะไรผิดพลาดไป ให้มองย้อนกลับไปเพื่อหาบทเรียนที่จะช่วยให้เราพัฒนาขึ้นในอนาคต
พยายามคิดแง่บวก
ทั้งหมดนี้ คือ วิธีการพัฒนาตัวเองให้เป็นคนแบบ Proactive ซึ่งแน่นอนว่า แม้คุณจะทำทั้งหมดนี้แล้ว คุณก็จะยังไม่เปลี่ยนแปลงกลายเป็นคนแบบ Proactive ในทันที กระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้ต้องใช้เวลา ซึ่งในระหว่างนั้นคุณจำเป็นที่จะต้องอดทนนานและทำต่อไปอย่างสม่ำเสมอ แล้ววันหนึ่งคุณก็จะได้พบตัวตนใหม่ที่กลายเป็นคนแบบ Proactive อย่างแท้จริง และแน่นอนว่าผลลัพธ์ของมันจะคุ้มค่าการลงทุนของคุณอย่างแน่นอน
Kommentare