top of page
รูปภาพนักเขียนฐิติกร พูลภัทรชีวิน

เผ่ากะลาสี นักผจญภัย (Sailor Tribe : The Explorer) ผู้ชอบออกไปไขว่คว้าหาสิ่งใหม่เสมอ

กะลาสี เป็นคำเรียกบรรดาลูกเรือที่ใช้ชีวิตอยู่ในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ เพื่อไปค้นหาดินแดนใหม่ๆ หรือเพื่อขนส่งสินค้าระหว่างทวีป ในอดีตคนที่จะสมัครเป็นลูกเรือหรือกะลาสีเรือนั้นมักจะเป็นคนที่กระตือรือร้นที่จะได้ออกจากเมืองเล็กๆ ที่ตัวเองอยู่มาตั้งแต่เด็กจนโต เพื่อออกไปมองโลกกว้าง ไปผจญภัยในสถานที่ใหม่ๆ ที่ตัวเองไม่เคยไป พบปะกับผู้คน วัฒนธรรม และชนชาติที่ตัวเองไม่เคยพบเห็นหรือได้ยินเรื่องราวของพวกเขามาก่อน และเมื่อไหร่ก็ตามที่ได้พบสิ่งที่ดีมีประโยชน์ พวกเขาก็จะนำมันติดไม้ติดมือกลับมาให้กับคนในเมืองของตัวเอง ทุกครั้งที่ได้กลับมาเยี่ยมเยียนบ้านเกิดเมืองนอนหรืิได้ไปจอดแวะพักเมืองไหน เขาก็มักจะมีเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับการผจญภัยอันแสนตื่นเต้นที่ได้เผชิญมา


ถึงแม้ว่าชีวิตของเหล่ากะลาสีจะดูเหมือนน่าสนุกตื่นเต้น แต่ในความเป็นจริงกลับเต็มไปด้วยความเสี่ยงที่จะต้องพบกับอันตรายถึงชีวิต นอกจากนี้ในช่วงเวลาที่ต้องลอยเคว้งคว้างอยู่ในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ ก็ต้องเผชิญกับความเหงา ว้าเหว่ โดดเดี่ยว และน่าเบื่ออยู่ดี เพราะเหล่ากะลาสีต้องอยู่ในเรือแคบๆ ที่มีแต่เพื่อนกะลาสีด้วยกัน ต้องทำงานประจำตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างมีระเบียบวินัย และต้องทำตามคำสั่งของกัปตันอย่างเคร่งครัด แต่ไม่ว่าอย่างไร สำหรับเหล่ากะลาสีแล้ว สิ่งเหล่านั้นก็ถือว่าคุ้มค่า เมื่อแลกกับสิ่งที่พวกเขาได้รับจากการออกไปผจญภัยในโลกกว้างนี้


ลักษณะเด่นของเผ่ากะลาสี

คนที่อยู่ในเผ่ากะลาสี มักเป็นคนรักอิสระ ไม่ชอบถูกผูกมัดด้วยกฎระเบียบข้อบังคับ ไม่ชอบอยู่ที่ไหนนานๆ หรือทำอะไรซ้ำๆ แต่ชอบที่จะออกไปสู่โลกกว้าง ไปพบปะเรื่องราวใหม่ๆ ผู้คนใหม่ๆ เผ่ากะลาสีมักจะเป็นคนมีเพื่อนมาก ไปที่ไหนก็มีคนรู้จัก เพราะเป็นคนสนุกสนาน เข้ากับคนง่าย ปรับตัวเก่ง ชอบพูดคุยกับผู้คนไม่ว่าจะรู้จักหรือไม่ก็ตาม และรู้สึกว่าเวลาที่ได้มีเพื่อนคุยนั้นเป็นเวลาที่มีคุณค่า (ส่วนเวลาที่ต้องเก็บตัวอยู่กับโต๊ะทำงานก็จะรู้สึกเบื่อและว้าเหว่เหมือนตอนที่ต้องอยู่บนเรือที่ลอยอยู่กลางมหาสมุทร)


เผ่ากะลาสีมักจะลงมือทำสิ่งต่างๆ โดยอาศัยประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้มาจากโลกกว้าง ความคิดสร้างสรรค์ และการตัดสินใจอย่างรวดเร็วบนพื้นฐานของอารมณ์ความรู้สึกและสัญชาติญาณ เมื่อเผชิญกับอุปสรรคปัญหา เผ่ากะลาสีก็รู้จักมองสถานการณ์และปรับเปลี่ยนวิธีการให้เหมาะสมเหมือนกับกะลาสีเรือที่คอยมองทิศทางลม กระแสน้ำและโขดหิน ก่อนจะควบคุมเรือให้ พ้นปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ไปได้


การที่เผ่ากะลาสีไม่ชอบที่อยู่ที่ไหนนานๆ หรือทำอะไรซ้ำๆ ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะบังคับให้เผ่ากะลาสีต้องทำตัวเหมือนพนักงานทั่วไป ที่ต้องนั่งอยู่ในออฟฟิศ เขียนรายงานมากมาย หรือเข้าประชุมสารพัดเรื่อง และก็เป็นการยากเช่นกันที่จะทำให้เผ่ากะลาสีต้องทำงานด้วยวิธีการเดิมๆ ตามกระบวนการทำงานที่กำหนดไว้แล้วอย่างเคร่งครัด หรือจับเผ่ากะลาสีไปนั่งทำงานในมุมมืดที่ไม่ได้มีโอกาสพบเจอพบปะผู้คน


ด้วยความที่เป็นคนชอบออกไปสู่โลกกว้าง คนเผ่ากะลาสีจึงมักมีเรื่องราวประสบการณ์ที่น่าสนใจน่าติดตามมาเล่าให้คนอื่นฟังเสมอ และหลายๆ ครั้งก็มีโอกาสดีๆ ทางธุรกิจติดไม้ติดมือกลับมาฝากคนอื่นๆ ในทีมด้วย เป็นเรื่องดีที่เผ่ากะลาสีจะตื่นเต้นกับโอกาสใหม่ๆ ที่ตัวเองนำเข้ามาให้กับองค์กร แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ ไม่ยึดติดว่าสิ่งที่ตัวเองนำมานั้นดีเสมอไป ต้องพร้อมที่จะยอมรับเมื่อได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับไอเดียหรือสิ่งใหม่ๆ เหล่านั้น


หลุมพรางที่เผ่ากะลาสีควรระวัง คือ การมั่นใจในประสบการณ์และความสำเร็จในอดีตของตัวเอง จนทำให้ไม่อยากขอความช่วยเหลือจากใคร เพราะคิดว่าที่ผ่านมาฉันก็ยังผ่านมาได้ เหมือนกะลาสีที่ล่องเรือจนชำนาญ พิชิตมาแล้วร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ จนลืมไปว่าแต่ละครั้งที่พายุโหมซัดกระหน่ำ ทิศทางลม ความแรงลม กระแสน้ำ โขดหิน สภาพเรือ ประสบการณ์ลูกเรือ ต่างก็ไม่เหมือนเดิม ความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นจากความมั่นใจมากเกินไป อาจมากเพียงพอที่จะทำให้เรือนั้นต้องอัปปางลงได้ หรือสำหรับกะลาสีบางคน การขอความช่วยเหลือดูเหมือนเป็นเรื่องเสียหน้า จึงไม่อยากขอความช่วยเหลือจากใคร หรือสำหรับกะลาสีบางคน ก็อาจลุยเดี่ยวจนชิน จึงคิดไปเองว่าคงไม่มีใครอยากมาช่วย แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร ขอให้เผ่ากะลาสีจำไว้ว่า ไม่มีกัปตันคนไหนเดินเรือสำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียว ความสำเร็จของคนทุกคนล้วนแล้วแต่มีคนที่คอยสนับสนุนช่วยเหลือเสมอ การขอความช่วยเหลือไม่ใช่การแสดงออกถึงความอ่อนแอ แต่มันเป็นการแสดงออกถึงความเข้มแข็งที่กล้ายอมรับว่าตัวเองยังมีจุดอ่อนอยู่ และเป็นการให้เกียรติคนที่เราขอความช่วยเหลือ เป็นการบอกเขาว่าเรายอมรับในจุดแข็งที่เขามีอยู่

ดู 182 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

Comments

Rated 0 out of 5 stars.
No ratings yet

Add a rating
bottom of page