top of page
รูปภาพนักเขียนฐิติกร พูลภัทรชีวิน

สรุปการจัดการเชิงกลยุทธ์แบบจบในหน้าเดียว



ในกระบวนการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ จะเริ่มต้นจากการกำหนดจุดมุ่งหมายขององค์กรให้ชัดเจน


Purpose หรือจุดมุ่งหมายขององค์กร คือ เหตุผลที่องค์กรนี้เกิดขึ้นมาและดำรงอยู่ นี่คือตัวตนที่แท้จริงขององค์กร คือจุดยืนที่ชัดเจนขององค์กร ซึ่งไม่ได้สั่นไหวสั่นคลอนไปง่ายๆ ไม่ว่าโลกนี้จะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม นอกจากว่ามาถึงวันที่ purpose ขององค์กรไม่ได้เป็นที่ต้องการของโลกนี้หรือของกลุ่มเป้าหมายอีกต่อไป เมื่อถึงวันนั้นองค์กรจึงตัดสินใจว่า จะเปลี่ยน purpose ขององค์กรใหม่หรือว่าจะจบชีวิตขององค์กรลง


ตามด้วยกำหนดเจตนารมณ์เชิงกลยุทธ์ หรือ Strategic Intent ขององค์กร ตั้งแต่การกำหนดวิสัยทัศน์ (Vision) หรือก็คือ ภาพที่เราต้องการจะเป็นในอนาคต แล้วมากำหนดพันธกิจ (Mission) หรือสิ่งที่เราต้องทำเพื่อให้ภาพในอนาคตนั้นเกิดขึ้นได้จริง ต่อด้วยการกำหนดเป้าหมาย (Goals) หรือก็คือ สิ่งที่เราจะต้องทำให้สำเร็จในแต่ละช่วงเวลาเพื่อให้มั่นใจว่าเรากำลังเดินอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้อง ด้วยจังหวะก้าวเดินที่เหมาะสม


เมื่อเรามองเห็นภาพในอนาคตที่เราต้องการจะไปให้ถึงได้อย่างชัดเจนแล้ว เราก็จำเป็นที่จะต้องรู้ก่อนว่า แล้ว ณ ปัจจุบันนี้ เรากำลังยืนอยู่ ณ จุดไหน ซึ่งจะทำให้เรารู้ว่าความเป็นจริงกับความฝันห่างไกลกันมากน้อยขนาดไหน ด้วยการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอก ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานขององค์กร ควบคู่ไปกับการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายใน จนรู้ถึงจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค (SWOT) ขององค์กร อย่างชัดเจน นี่เป็นขั้นตอนที่สำคัญมากเหมือนอย่างที่ ซุนวู ได้กล่าวไว้ว่า “รู้เขา รู้เรา ร้อยรบ มิพ่าย”

เมื่อรู้แล้วว่าช่องว่างระหว่างความจริง ณ ปัจจุบัน กับภาพฝันในอนาคต ห่างไกลกันขนาดไหน ก็ถึงเวลามากำหนดเส้นทางที่จะนำพาเราไปให้ถึงจุดหมายปลายทางนั้น แน่นอนว่าเส้นทางไม่ได้มีเส้นทางเดียว การเดินทางก็ไม่มีเพียงวิธีเดียว ในโลกของกลยุทธ์มีความเป็นไปได้อยู่มากมาย อยู่ที่เราจะเลือกมองหามันหรือไม่


ขั้นตอนต่อไปจึงเป็นการสร้างทางเลือกกลยุทธ์ขึ้นมาอย่างสร้างสรรค์และหลากหลาย พร้อมทั้งวิเคราะห์ข้อดีข้อเสีย ความเป็นไปได้ ความเหมาะสม และความสอดคล้องของแต่ละแผนกลยุทธ์ ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกทางเลือกกลยุทธ์ที่เหมาะสมที่สุด เพื่อกำหนดเป็นแผนกลยุทธ์ระดับองค์กร หรือ Corporate Level Strategy หรือบางครั้งก็จะเรียกเป็น Grand Strategy


จากกลยุทธ์ภาพรวมขององค์กร แต่ละสายงานแต่ละฝ่าย ก็จะต้องนำไปแตกเป็นแผนกลยุทธ์ระดับหน่วยงานขึ้นมา แผนกลยุทธ์ระดับนี้เรียกว่า Functional Level Strategy หรือในบางครั้งก็จะเรียกเป็นแผนแม่บทหรือ Master Plan เช่น Marketing Strategy, IT Master Plan เป็นต้น


จากแผนกลยุทธ์ระดับหน่วยงาน ก็จะต้องนำมาแยกย่อยลงไปให้กลายเป็นแผนปฏิบัติการหรือ action plan ที่ชัดเจน ลงลึกถึงรายละเอียดในมิติต่างๆ เพื่อให้พนักงานแต่ละคนสามารถนำไปปฏิบัติตามได้ ส่วนใหญ่แล้วพนักงานแทบทุกระดับจะคุ้นเคยดีกับแผนประเภทนี้ ซึ่งเป็นแผนระยะสั้น ส่วนใหญ่ไม่เกิน 1 ปี


เมื่อได้แผนทุกระดับอย่างครบถ้วนแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการนำแผนไปปฏิบัติและติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง อย่าลืมว่าไม่ว่าเราจะทุ่มเทให้กับการวางแผนมากเพียงใดก็ตาม ก็ไม่มีวันที่เราจะได้แผนที่สมบูรณ์แบบไม่มีข้อผิดพลาด ดังนั้นเราจึงต้องคอยติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามแผนอยู่เสมอ หากพบว่าแผนกลยุทธ์ที่กำหนดขึ้น ไม่สามารถนำเราไปสู่เป้าหมายที่ต้องการในเวลาที่กำหนด เราก็จำเป็นต้องนำแผนนั้นกลับมาทบทวนปรับแก้ใหม่อีกครั้ง

การปรับแก้แผนก็มีหลายระดับ ตั้งแต่การปรับแก้ที่ระดับ Action Plan ซึ่งก็ควรจะทำทันทีที่เราพบว่า แผนนั้นไม่ได้นำเราไปสู่เป้าหมายที่ระบุไว้ในกลยุทธ์ หรือปรับแก้ระดับ Master Plan ซึ่งแม้ว่าจะวางไว้หลายปี แต่ก็จะต้องกลับมาทบทวนกันทุกปี เพื่อดูว่าผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร แล้วสภาพแวดล้อมทั้งภายในภายนอกมีการปรับเปลี่ยนหรือไม่ ถ้ามีก็อาจจะจำเป็นต้องปรับถึงระดับ Master Plan ได้


หรือในบางครั้งการปรับแก้แผนอาจจะต้องทำถึงระดับ Grand Strategy เลยก็ได้ ตัวอย่างที่ชัดเจนเลยก็คือในปีนี้ ที่ Covid-19 ระบาดอย่างรุนแรง แน่นอนว่าต้องกระทบถึงระดับ Grand Strategy เลยทีเดียวครับ


นอกจากนี้โดยทั่วไปเราก็จะมีการกลับมาปรับแก้ถึงระดับเจตนารมณ์เชิงกลยุทธ์เลยก็เป็นได้ อันนี้ส่วนใหญ่ก็จะรีวิวกันทุก 3-5 ปีนะครับ


ส่วนในระดับ Purpose หรือจุดมุ่งหมายนั้น ถ้าหากโลกมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญจริงๆ ซึ่งกระทบต่อเหตุผลในการดำรงอยู่ขององค์กร พูดง่ายๆ ก็คือ องค์กรไม่เป็นที่ต้องการของโลกนี้อีกแล้ว ก็จำเป็นต้องกลับมาทบทวนกันอีกครั้งหนึ่งครับ


และทั้งหมดนี้คือ ภาพรวมของการจัดการเชิงกลยุทธ์ แบบสรุปจบในหน้าเดียวครับ

ดู 12,994 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

Comments

Rated 0 out of 5 stars.
No ratings yet

Add a rating
bottom of page